16 สิงหาคม 2565 : กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้ส่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ.ม พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์, พ.ต.อ.พัฒนา ฉายาวัฒน์ รองผบก.ปอศ. และว่าที่ พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปอศงม พ.ต.ท.อุดมศักดิ์ สุวรรณแสง, พ.ต.ท.ภาณุพงษ์ กะระกล, พล.ต.ท.วีระศักดิ์ ติระพัฒน์, พ.ต.ท.ปุณณวิช อรรคนันท์ รองผกก.4 บก.ปอศ.
พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นำโดย นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการด้านกฎหมายคดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และคณะ เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย ว่าที่ พ.ต.ท.สาธิต หาวงษ์ชัย, พ.ต.ต.รุตินันท์ สัตยาชัย, พ.ต.ต.ชณิตพงศ์ ศิริเวช, พ.ต.ต.หญิง สุจิตรา ทองสกุล สว.กก.4 ปอศ.พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 14 ราย โดยแบ่งเป็น
1. ผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย ถูกจับกุมในฐานความผิด "ปลอมและใช้เอกสารปลอม, เรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์โดยทุจริต หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง" ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยพ.ศ.2535 และประมวลกฎหมายอาญา
2. ผู้ต้องหาจำนวน 3 ราย ถูกจับกุมในฐานความผิด "ทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้อื่นนั้นทำหรือรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตเดิม และหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม" คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 53 ล้านบาท
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้นำความเสียหายมาสู่ประเทศไทย ทั้งสุขภาพของประชาชนและระบบเศรษฐกิจ โดยในช่วงการระบาดดังกล่าวได้มีกลุ่มคนที่ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยต่างๆ ในประเทศไทย ฉวยโอกาสในช่องว่างของขั้นตอนการรับเงินประกัน นำผลตรวจโควิด-19 ปลอม มายื่นเพื่อขอรับสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบประกันภัยที่ต้องสูญเสียเงินไปกับกลุ่มคนเหล่านี้จำนวนมาก ทั้งยังทำให้ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 จริง ได้รับสินไหมล่าช้า หรือไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากบริษัทประกันขาดสภาพคล่อง
นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการด้านกฎหมายคดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคปภ.
นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มตัวแทนบริษัทประกันชีวิตบางราย หลอกลวงลูกค้าเก็บเบี้ยประกันภัยไว้ ไม่นำเงินส่งบริษัท โดยที่ผู้เอาประกันภัยไม่ทราบเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ และถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงการแพร่ระบาด โดยกลุ่มคนที่หลอกลวงให้ลูกค้าทำประกันชีวิตแต่ไม่ส่งเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันชีวิตนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 21 ราย โดยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ.ได้ดำเนินการขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 21 ราย ต่อศาลอาญา
ต่อมาในระหว่างวันที่ 4-15 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ.ได้ร่วมกันติดตามจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาที่ปลอมเอกสารการตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 14 ราย นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ.ดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งทางคดีอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลหาตัวผู้ร่วมขบวนการต่อไป
นายชัยยุทธ กล่าวต่อไปว่า การจับกุมทั้ง 14 รายนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ แต่ทางคปภ.และกองบัญชาการสืบสวนกลางมีความเห็นว่าในการดำเนินเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรจะมีการเชื่อมฐานข้อมูลในระบบดิจิทัลต่อกันในเรื่องการแจ้งเบาะแส รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่สำนักงานคปภ.มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเรียลไทม์เพื่อให้สำนักงานตำรวจสามารถนำไปสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อไปได้
เนื่องจากทางระบบสารสนเทศของกองบังคับการสอบสวนกลาง มีระบบเชื่อมโยงข้อมูลไปทั่วประเทศ เช่น กรมทางหลวง กองบังคับการตำรวจภูธรทั่วประเทศ และการแถลงข่าวร่วมกันวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกันและให้พี่น้องประชาชนได้เห็นว่าเราเอาจริงเอาจังกับคนที่ทำการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อที่จะปกป้องประชาชนผู้สุจริต ในขณะเดียวกันให้ความคุ้มครองพวกเราให้ทำประกันภัยด้วยความเชื่อมั่น ถ้าหากคนฉ้อฉลประกันภัยน้อยลงก็จะทำให้เบี้ยประกันภัยถูกลงแน่นอน ในขณะเดียวกันธุรกิจประกันภัยก็เกิดความน่าเชื่อถือเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนได้
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่มีนั้นมีจำนวนผู้กระทำความผิดกรณีเคลมโควิด-19 สูงถึงกว่า 4,000 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ถ้าหากหลักฐานชัดเจนว่ากระทำผิดจริงก็จะถูกหมายจับ แต่ถ้าหากหลักฐานไม่ชัดเจนก็จะปิดเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ทั้ง 4,000 รายดำเนินการเคลมสินไหมโควิด-19 ไปหมดแล้ว เฉลี่ยมีสินไหมประมาณ 50,000-100,000 บาท/ราย
"ยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่ง มีรายได้น้อยแต่ซื้อประกันโควิด-19 ไว้ 5-6 บริษัท เบี้ยประกันก็สูงหลังจากนั้นติดโควิดเคลมทุกบริษัทฯ แบบนี้ถือว่าผิดปกติ แต่จะไปดำเนินการจับเขาเลยไม่ได้ หากสงสัยก็ต้องสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงก่อนหากมีหลักฐานชัดเจนถึงจะดำเนินการจับกุมต่อไป แต่เวลานี้เราเป็นหน่วยงานของรัฐมีความตั้งใจที่จะป้องปราม เพื่อจะทำให้ยอดเคลมทุกประเภทลดลง จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามฯ ขึ้น"
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.ได้ดำเนินการจัดทำระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับการรายงานข้อมูลตามประกาศนายทะเบียนฯ โดยที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยนำส่งข้อมูลรายงานเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ตั้งแต่ปี 2564 ถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ดังนั้น
กรณีฉ้อฉลประกันภัยในปี 2564 มีจำนวน 5,396 เรื่อง แยกเป็นการฉ้อฉลของการประกันชีวิต 538 เรื่อง และการฉ้อฉลของบริษัทประกันวินาศภัย 4,758 เรื่อง และในปี 2565 มีจำนวน 4,150 เรื่อง แยกเป็นการฉ้อฉลของการประกันชีวิต 458 เรื่อง และฉ้อฉลของบริษัทประกันวินาศภัย 3,692 เรื่อง
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เป็นพฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัยในปี 2564 จำนวน 1,815 เรื่อง โดยแยกเป็นรายงานพฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต 745 เรื่อง และของบริษัทประกันวินาศภัย 1,070 เรื่อง ส่วนในปี 2565 จำนวน 1,358 เรื่อง แยกเป็นรายงานพฤติกรรมที่อาจเป็นฉ้อฉลของบริษัทประกันชีวิต 786 เรื่อง และของบริษัทประกันวินาศภัย 572 เรื่อง