1 สิงหาคม 2565 : สถานการณ์เงินเฟ้อยังหัวเลี้ยวหัวต่อ หาทางลงยากเหลือเกิ๊น อัตราเงินเฟ้อของไทยรอบล่าสุดก็ทยายแรงทะลุ 7% สูงสุดในรอบ 13 ปีเลยทีเดียว พอๆ กับนานาประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงไม่แพ้กัน จนธนาคารกลางหลายประเทศกุมขมับพร้อมพาเหรดกันขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อ แต่จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามดูกันต่อไป
เดือนนี้ แน่นอนว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. คงปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามแผน เพราะช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” เดินสายตามงานใหญ่ๆ อยู่บ่อยครั้ง แถมย้ำ ถึงความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 10 ส.ค. นี้ โอกาสที่ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 100% ขณะที่หลายฝ่ายต่างพากันจับตามองว่า กนง.จะใช้ยาแรงขึ้นรวดเดียว 0.50-1.00% หรือเปล่า แต่จากที่ฟังท่านผู้ว่า ธปท.ย้ำอยู่หลายครั้งว่า “ขอแบบค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดแน่” ได้ยินแบบนี้แล้ว กนง.วันที่ 10 ส.ค.2565 ขึ้น 0.25% ทิศทางไปอย่างนั้น
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เราเห็นเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิดชัดเจนขึ้น และคาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้เราจะยังต้องเจอกับปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมถึงความท้าทายจากการปรับนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้ตลาดการเงินและตลาดทุนของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมถึงไทยต้องผันผวนสูง
แต่ระบบการเงินและสถาบันการเงินของไทยยังมีศักยภาพที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และทำงานได้ตามปกติ บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด ทำให้ทุกภาคส่วนนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องปรับตัว ในส่วนของนโยบายและมาตรการทางการเงินก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินและสมดุลความเสี่ยงใหม่ที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น โดยเน้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด
“มองไปข้างหน้า เชื่อว่าความท้าทายจะยังมีต่อเนื่อง ขอให้ภาคธุรกิจรักษาคุณภาพและมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมกับพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อให้องค์กรมีความมั่นคง และช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน”ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
ขณะที่ฝั่งภาคเอกชน เสนอธปท.ว่า หากจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อจริง ขอให้พิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนื้ด้วย ส่วนเรื่องค่าเงินบาทนั้น ก็อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับค่าเงินบาท โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 32 - 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 19 เดือนก.ค.2565 ภายใต้หัวข้อ “ภาคอุตสาหกรรมจะรับมือกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร” พบว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 7.6% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยภายนอกจากทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 3.4% ภายในสิ้นปีนี้
ทำให้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างกันจนมากเกินไป จนไปกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินบาท
ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอว่า กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควรพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น รวมทั้งควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากบางธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan), การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการช่วยเหลือทางภาษีทั่วไป เป็นต้น
โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 0.75 – 1.00% เพื่อที่จะรักษาทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย ในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า แม้การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถด้านราคาในการส่งออกสินค้าไทย แต่อีกมุมหนึ่งก็ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนพลังงาน สินค้าและวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า
ซึ่งภาครัฐควรให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และมาตรการป้องปรามหรือจำกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจควรอยู่ที่ระดับ 32 - 34 บาท ต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะให้ผู้ประกอบการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินบาทที่อ่อนค่า เช่น การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) หรือการซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Option Contract) เป็นต้น