WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันจันทร์ ที่ 21 ตุลาคม 2567 ติดต่อเรา
ธนาคารกรุงเทพ หนุน ม.ธรรมศาสตร์ ชวนพนักงานจิตอาสารณรงค์ลดทิ้งขยะลงแม่น้ำ–ฟื้นฟูคุณภา พชีวิตชุมชนริมฝั่งคลอง

25 กรกฎาคม 2565 : นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ “พายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง” จัดโดยอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน ร่วมกันเป็นจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะในคลองบางกอกน้อย คลองอ้อมนนท์ และคลองบางกรวย เพื่อลดปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลอง ลดปัญหาขยะที่จะไหลไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย

ขณะเดียวกันยังกระตุ้นจิตสำนึก รณรงค์ให้คนไทยร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง สอดคล้องกับเจตนารมย์ของธนาคารกรุงเทพที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับกิจกรรมในโครงการ “พายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง” ธนาคารได้จัดส่งพนักงานร่วมเป็นจิตอาสาพายเรือเก็บขยะร่วมกับอาสาสมัครนักพายเรือคายัคกว่า 200 ลำ โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่ต้องการเห็นแม่น้ำลำคลองสะอาด ลดปัญหาขยะที่จะไหลลงลงสู่อ่าวไทย ทั้งยังช่วยฟื้นฟูแหล่งน้ำและส่งเสริมชุมชนสองฝั่งคลองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการเก็บขยะครั้งนี้สามารถรวบรวมได้ 221 กิโลกรัม ในจำนวนนี้เป็นขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล 84 กิโลกรัม หรือ 1 ใน 3 ของขยะที่เก็บได้ทั้งหมด

นายทวีลาภ กล่าวอีกว่า ธนาคารสนับสนุนให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งที่จัดขึ้นโดยธนาคาร และความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพราะจะช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ และเกิดจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับกิจกรรมในโครงการ“พายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง” ที่มีผู้บริหารและพนักงานธนาคารตอบรับเป็นจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมค่อนข้างดี หลายคนตั้งใจเลือกใช้วันหยุดของตนเองเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมนี้และมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

รวมถึงการได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน และการเป็นตัวแทนของธนาคารเพื่อร่วมกิจกรรมนี้อีกด้วย “ธนาคารให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG(Environment, Social and Governance)ด้วยเป้าหมายที่ต้องการสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทยในระยะยาวการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิผลและตัดสินใจทางธุรกิจโดยคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจจะเป็น “เพื่อนคู่คิด” กับลูกค้าและสังคมไทย ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายทวีลาภ กล่าว

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุลประธานกรรมการบริหารการเรียนรู้ป๋วย 100 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้จัดกิจกรรม “พายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง” กล่าวว่า คลองบางกอกน้อยคลองอ้อมนนท์และคลองบางกรวยถือเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักในอดีตของชาวกรุงเทพ มหานคร ชาวนนทบุรี และชาวบางกรวย การจัดกิจกรรมเก็บขยะใน 3คลองดังกล่าวจึงช่วยลดปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลลงไปสู่อ่าวไทย ทั้งยังช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงสถานการณ์ปัญหาขยะในแหล่งน้ำ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีรวมถึงการศึกษาทรัพยากรธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของริมสองฝั่งคลองอีกด้วย

ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยขยะลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก โดย 80% ของขยะมาจากแม่น้ำลำคลองสายหลักๆ ที่ไหลลงสู่อ่าวไทย ขยะเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายเป็นพันปีก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบต่อทะเล มหาสมุทรกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเล เช่น ปลาวาฬ เต่าที่ต้องตายจากขยะพลาสติก เป็นจำนวนมากทุกปีและยังก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอีกด้วย

จึงทำให้ในปี 2561 และปี2562 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา : เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย” ในจังหวัดต่างๆ ทั้ง 10 จังหวัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจึงทำให้จำนวนขยะที่ไหลลงอ่าวไทยจาก แม่น้ำสายต่างๆ เริ่มลดน้อยลง เป็นผลให้อันดับของประเทศไทยจากอันดับ 6ที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดได้กลาย เป็นอันดับ 10 ในปี 2563

ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้พลาสติกกลับมามีปริมาณมากขึ้นซึ่งทำให้อันดับประเทศทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดของไทยกลับมาอยู่ที่อันดับ 6 จากอันดับ 10 ในปี 2564จึงยังคงเดินหน้าต่อยอดกิจกรรมลักษณะดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและสร้างความยั่งยืนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่อไป

ไลฟสไตล์ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP