25 กรกฎาคม 2565 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-36.95 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิด อ่อนค่าที่ 36.72 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 36.53-36.95 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีครั้งใหม่ และเคลื่อนไหวผันผวนตามราคาทองคำในตลาดโลก เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอ้างอิง 50bp สู่ระดับ 0% ถือเป็นการยุติการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มา 8 ปี และประเดิมขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 11 ปี โดยเป็นการปรับขึ้นมากกว่าที่อีซีบีเคยระบุไว้เดิมว่าจะขึ้น 25bp ในเดือนนี้ ขณะที่อีซีบีประเมินว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง อีซีบีได้ยกเลิก Forward Guidance เพื่อหลีกเลี่ยงการผูกมัดในการดำเนินนโยบายโดยส่งสัญญาณว่าการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกจะเป็นไปตามข้อมูลที่ได้รับ
นอกจากนี้ อีซีบีชี้แจงเกี่ยวกับการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการTransmission Protection Instrument เพื่อดูแลต้นทุนการกู้ยืมสำหรับรัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโรโซน โดยการใช้เครื่องมือนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอีซีบี ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงนโยบายแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษตามคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 889 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 3,534 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่า เหตุการณ์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 75bp สู่ระดับ 2.25-2.50% รวมถึงข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/65 ของสหรัฐฯ โดยนักลงทุนจะติดตามการประเมินภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของเฟดเพื่อจับสัญญาณว่าเฟดจะเริ่มลดความแข็งกร้าวต่อการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปหรือไม่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯร่วงลง อนึ่ง ตลาดการเงินในประเทศเปิดทำการเพียง 3 วันในสัปดาห์นี้ โดยอัตราแลกเปลี่ยนอาจแกว่งตัวออกด้านข้างในช่วงต้นสัปดาห์ขณะที่ผู้ร่วมตลาดบริหารความเสี่ยงก่อนทราบผลประชุมเฟดและตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ
สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเน้นย้ำว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แต่หากขึ้นดอกเบี้ยแล้วเงินเฟ้อยังไม่เข้าสู่กรอบ ธปท.อาจต้องคุมเข้มนโยบายมากกว่าปกติ โดยธปท.ประเมินว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะน้อยกว่าผลจากเงินเฟ้อที่จะลดทอนกำลังซื้อ ท่าทีดังกล่าวสนับสนุนมุมมองของเราและตลาดที่ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 25bp จากระดับ 0.50% ในการประชุมวันที่ 10 สิงหาคมนี้