22 กรกฎาคม 2565 : นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ชุมชนนอกตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ลูกค้ามีความต้องการใช้บริการการเงิน บางส่วนไม่มีบัญชีเงินฝาก ไม่มีหลักฐานการเงินที่ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และเป็นพื้นที่ที่สาขาของธนาคารยังเข้าไม่ถึง เคแบงค์ จึงร่วมลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท กับ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจ คาราบาว” เป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารที่ตั้งใจพัฒนาร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ทุกคนที่อยู่ในวงจรของ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ตั้งแต่เจ้าของร้าน คู่ค้า ชาวบ้านในชุมชน สามารถจับจ่ายใช้สอยและใช้บริการการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้หมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน
การพัฒนา “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ที่ธนาคารมีแผนดำเนินการร่วมกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่
1) ส่งเสริมศักยภาพของร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นร้านสะดวกซื้อชุมชนที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านและระบบการชำระเงินต่างๆ
2) เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค้าขายต่างๆ โดยธนาคารนำข้อมูลการจับจ่ายในชีวิตประจำวันมาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ประจำ หรือเจ้าของร้านค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนภายในร้าน
3) เป็นจุดให้บริการธุรกรรมการเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันกับคนในชุมชน เช่น บริการถอนเงิน จ่ายบิล เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น สแกนจ่ายด้วยคิวอาร์ โค้ด ซึ่งคนในชุมชน ส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยแล้ว เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในช่วงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
นายพัชร กล่าวต่อว่า ความร่วมมือนี้ จะทำให้ธนาคารมีจุดบริการเคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service) เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด ภายในปี 2567 จากเดิมมีจำนวนกว่า 27,000 จุด เพิ่มช่องทางการให้บริการได้ลึกถึงแหล่งชุมชนและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ธนาคารมีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา ตู้เอทีเอ็มและตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย
ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของธนาคารรวมกว่า 15,000 ล้านบาท ครอบคลุมการร่วมลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด และเตรียมลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการสินเชื่อเต็มรูปแบบ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินให้กับ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว”
นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” กับธนาคารกสิกรไทย ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างกำลังซื้อให้กับชุมชน และความแข็งแกร่งให้กับ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ในการให้บริการแก่ผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของร้านซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ในปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเปิดร้านรายอื่นๆ ที่จะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ในอนาคต ตลอดจนซัพพลายเออร์และผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ในตลาดค้าปลีกได้มากยิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์ของบริษัทในการพัฒนา “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” นั้น บริษัทไม่ได้มองเพียงการเข้ามาพัฒนาและปรับร้านโชห่วยให้มีความทันสมัยเท่านั้น แต่วางเป้าหมายให้ร้านถูกดีฯ เป็นเสมือน “แพลตฟอร์ม”และ “โครงข่าย” ที่เชื่อมโยงกันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนทั่วประเทศ และเชื่อมต่อผู้ผลิต และผู้ให้บริการต่างๆ ที่คนในชุมชนเคยเข้าถึงได้ยาก อาทิ บริการทางการเงิน, เป็นจุดรับส่งสินค้าในชุมชน, บริการสินค้าทางการเกษตร ฯลฯ โดยเฉพาะในชุมชน หมู่บ้านที่ห่างไกล ที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังเข้าไม่ถึง โดยตั้งเป้าให้ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เป็น “โซลูชั่น” ที่จะเข้าไปตอบโจทย์และเพิ่มความสะดวกให้คนในชุมชน ทำให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทั่วประเทศง่ายขึ้น ซึ่งความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ เป็นหนึ่งใน กลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
“ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นโครงข่ายร้านค้าปลีก ภายใต้การบริหารงานของนายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ที่มีแนวคิดสร้างมาตรฐานวงการร้านค้าปลีกชุมชน ด้วยการยกระดับมาตรฐานร้านค้าปลีกให้ทันสมัยด้วยความรู้ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการร้าน โดยชูโมเดล “ร้านค้าชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ร้านสะดวกซื้อชุมชนสมัยใหม่ ที่สนิทใจลูกค้า เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และมุ่งแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายมาโดยตลอด กับแนวคิด “กินแบ่ง ไม่กินรวบ” โดยถือเป็นร้านสะดวกซื้อชุมชนที่เติบโตเร็วที่สุด ปัจจุบันมีจำนวนร้านที่เปิดแล้วกว่า 5,000 ร้านค้าทั่วประเทศ