บทสัมภาษณ์ : ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย หรือ BKI
ประกันภัยโควิด ส่งผลกระทบกับ BKI หรือไม่?
กรุงเทพประกันภัยก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีประกันภัยแบบเจอ จ่าย จบ ขายอยู่ในปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 โดยมีเบี้ยประกันภัยโควิดอยู่ที่ประมาณ 674 ล้านบาท มีจำนวนกรมธรรม์ที่ 1.35 ล้านกรมธรรม์ โดยในปี 2564 บริษัทฯ จ่ายเคลมประกันภัยโควิดไปแล้วประมาณ 3,400 ล้านบาท ซึ่งคิดว่าในปี 2564 นั้นหนักแล้ว แต่ในปี 2565 นี้หนักกว่ามาก
บริษัทฯ คาดว่ายอดเคลมประกันโควิดของปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 8,700 ล้านบาท คิดเป็น Loss Ratio ประมาณ 1,900% เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันรับที่มี 674 ล้านบาท รวม 2 ปี มีสินไหมทดแทน 12,100 ล้านบาท
สำหรับในไตรมาสแรกปี 2565 บริษัทฯ จ่ายเคลมไปแล้วประมาณ 5,800 ล้านบาท คงเหลือยอดจ่ายเคลมในช่วงไตรมาส 2 อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท นับว่าเป็นช่วงสูงสุดของการติดเชื้อง่าย เนื่องจากโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่ระบาดหนักในปีนี้ แพร่ระบาดได้รวดเร็ว อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ "เดลต้า" และ "อัลฟ่า" โอกาสเชื้อลงปอดน้อยลงและเสียชีวิตลดลงเช่นกัน อีกทั้งฉีดวัคซีนแล้ว 80% ทำให้คนไทยไม่กลัว จึงเกิดแรงจูงใจให้ประชาชนจำนวนมากตั้งใจติดเชื้อโควิดเพื่อมาเคลมประกัน
"ทุกอย่างพลิกผันไปหมด เพราะมีประชาชนจำนวนหนึ่งแสวงหาผลประโยชน์ โดยคำแนะนำของผู้รู้หลากหลายจำพวก ทำให้เห็นภาพการติดเชื้อทั้งครอบครัว บางรายมาเคลมประกันแล้วสามารถออกรถป้ายแดง สามารถปลดหนี้บ้าน ซึ่งเราเองก็ต้องโทษตัวเองว่าเราวางกับดักตัวเอง เนื่องจากการประเมินสถานการณ์โควิดไม่ครอบคลุม ถึงแม้ว่าจะคิดเผื่อเรื่องการทุจริตเพื่อหวังเอาเงินประกัน (Moral Hazard) ไว้แล้ว แต่ไม่คาดคิดว่า การทุจริตเคลมของสังคมไทยจะเกิดขึ้นมากขนาดนี้"
ดังนั้น การออกแบบประกันภัยเพื่อประชาชนระดับไมโครอินชัวรันส์และนาโนอินชัวรันส์ เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องใส่ใจและระมัดระวังอย่างยิ่ง และการทำอะไรที่ไม่มีสถิติรองรับอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก เพราะถือว่าการรับประกันครั้งนี้เป็นการคาดเดาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ใช่เฉพาะบริษัทประกันภัย แต่รวมถึงหน่วยงานกำกับด้วย
สถานะทางการเงินและความแข็งแกร่งของ BKI
ถึงแม้ว่าไตรมาสแรก 65 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบและมีผลขาดทุนจากการรับประกันภัย 3,580.5 ล้านบาท แต่มีผลตอบแทนจากการลงทุนเข้ามาช่วย อีกทั้งที่ประชุมบอร์ดมีมติจ่ายปันผลในไตรมาสแรกให้กับผู้ถือหุ้นตามปกติที่ 3.50 บาท เนื่องจากบริษัทฯ มีกำไรสะสมกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอในการที่จะตัดขาดทุน และมีส่วนเหลือในการจ่ายปันผลได้
ขณะที่อัตราเงินกองทุน (Car Ratio) ของบริษัทฯ ในไตรมาส 1 อยู่ที่ 172.3% สูงกว่าที่สำนักงาน คปภ. กำหนดไว้ที่ 140% โดยความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ที่ยังมีเงินทุนที่เป็นส่วนของเจ้าของ 30,800 ล้านบาท มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ถึง 466%
เร่งเครื่องครึ่งปีหลัง 65 ตั้งเป้าหมายเติบโตอีก 5-6%
สำหรับไตรมาส 3-4 ของปีนี้มีแนวโน้มว่า บริษัทฯ จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น กลับสู่ภาวะปกติ และสามารถเติบโตก้าวกระโดดได้ ซึ่งอัตราความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) คาดว่าจะกลับไปสู่ระดับเดิมเหมือนช่วงก่อนโควิดที่ประมาณ 240-300% สะท้อนถึงสถานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ
โดยเป้าหมายปี 2565 นี้ตั้งเป้าเติบโต 5-6% ถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตได้ไม่ถึง 2% ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการประกันภัยรถยนต์ โดยเป็นผลมาจากการระบาดของโควิดสายพันธ์ุย่อย BA.4 BA.5 ภาคธุรกิจอาจจะกลับไปทำงานที่บ้านอีกครั้ง ทำให้การใช้รถน้อยลง ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ก็ลดน้อยลงไปด้วย ประกอบกับสถานการณ์น้ำมันแพง คนก็ใช้รถยนต์น้อยลงไปด้วย