27 มิถุนายน 2565 : นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)หรือ TLI กล่าวว่า “ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่งกว่า 80 ปีในธุรกิจประกันชีวิต ผนวกกับการพัฒนาองค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง วันนี้ไทยประกันชีวิตจึงพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน ผ่านการปรับกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจทุกด้าน โดยยกระดับสู่การเป็น Data Driven Company ดำเนินธุรกิจผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบครบวงจร และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในลักษณะเฉพาะบุคคลได้อย่างแท้จริง
ล่าสุดประกาศ “TLI” เดินหน้าแผนการเสนอขายหุ้นสามัญ ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 2,316.7 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 37,067 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ร่วมเป็นเจ้าของและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน การเสนอขายหุ้น IPO ของไทยประกันชีวิตในครั้งนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่มิติใหม่ รองรับการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งความแข็งแกร่งของไทยประกันชีวิตในปัจจุบัน พร้อมด้วยยุทธศาสตร์ ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่า ไทยประกันชีวิตจะเป็นบริษัทประกันชีวิตที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนอยู่เคียงข้างดูแลลูกค้าและคนไทยอย่างยั่งยืน”
สำหรับเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ ไทยประกันชีวิตจะนำไปใช้ในการเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยเน้นลงทุนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านนวัตกรรมที่จะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ ในอนาคต
นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่เป็นของคนไทยและก่อตั้งโดยคนไทย ซึ่งแบรนด์ไทยประกันชีวิตมีความเป็นเอกลักษณ์ น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้เราได้รับความไว้วางใจ และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้ามาได้อย่างยาวนาน โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ไทยประกันชีวิตมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับกว่า 4.4 ล้านกรมธรรม์
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและครอบคลุม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกช่วงชีวิต ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทั้งเครือข่ายตัวแทน ประกันชีวิตมืออาชีพ ที่มีจำนวนกว่า 64,000 คนกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 รวมถึงการจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตร และช่องทางอื่นๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
จุดแข็งอีกด้านมาจากการที่ไทยประกันชีวิตมีคณะผู้บริหารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มากด้วยประสบการณ์ในธุรกิจประกันชีวิต อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรธุรกิจ บริษัท เมจิยาสุดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ไทยประกันชีวิต มีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น พร้อมสร้างโอกาส การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว”
ในส่วนของผลการดำเนินงานในปี 2564 ไทยประกันชีวิตมีส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ประมาณ 15% เป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต โดยมีรายได้รวม 109,246 ล้านบาท สามารถสร้างกำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นอัตรา การเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 11.3% ระหว่างปี 2562 – 2564 ขณะที่ในไตรมาส 1 ปี 2565 ไทยประกันชีวิต มีรายได้รวม 25,955 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 14.7% เทียบกับช่วง ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของไทยประกันชีวิตมีความแข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ที่ 361 % ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดของ คปภ. ที่กำหนดไว้ที่ 140% อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับในเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมาสถาบัน Fitch Ratings ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของบริษัทฯ ไว้ที่ A- (ระดับสากล) และ AAA (tha) (ระดับภายในประเทศ)
ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวได้รวดเร็วกำลังเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ กำลังเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย (Aged Society) มีประชากรกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีความสนใจทำประกันชีวิตประกันสุขภาพกันมากขึ้น โดยที่บริษัทประกันชีวิต ประเทศไทยมีช่องว่างความคุ้มครองการเสียชีวิต (Mortality protection gap) หากผู้นำครอบครัวสูญเสีย คนในครอบครัวยังต้องการรายได้ที่มีส่วนต่างถึงกว่า 70% ซึ่งการประกันชีวิตสามารถแก้ไขปัญหาจุดนี้ได้ โดยประเทศไทยยังมีจำนวนผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมาก โดยไทยมีผู้ซื้อประกันเพียง 3.8% ขณะที่สิงคโปร์มีผู้ซื้อประกัน 10.2% ญี่ปุ่น 7.2% มาเลเซีย 4.2% และ สหรัฐอเมริกา 5.5%
ขณะที่ผู้เชียวชาญคาดว่าเบี้ยประกันภัยรับปีแรกของประเทศไทย จะเติบโตเฉลี่ย 8.3% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2564-2569 ถึงแม้ว่าในอดีต GDP ของประเทศไทยจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ช่วงที่ผ่านมาก็มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ อย่างมากเช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะฉะนั้นด้วยนโยบายของรัฐบาลเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้น ความตระหนักถึงความจำเป็นของการประกันชีวิตและประกันสุขภาพ รวมถึงสังคมสูงวัย จึงเชื่อว่าเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยประกันชีวิตที่จะขยายตัวสูงขึ้น
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะได้รับการเสนอขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร แต่ช่องทางตัวแทนประกันชีวิตถือว่ายังมีความสำคัญ ซึ่งเดือนเมษายน 2565 ส่วนแบ่งทางการตลาดผ่านช่องทางธนาคารอยู่ที่ 40% ขณะที่ช่องทางตัวแทนมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 49.6% ที่ผ่านการสร้างช่องทางตัวแทนประกันชีวิตให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างทั่วถึง ซึ่งไทยประกันชีวิตพัฒนาตรงจุดนี้อย่างต่อเนื่อง
“การเสนอขายหุ้น IPO และนำหุ้น TLI มีจุดเด่นใน 6 ประการ ได้แก่ 1.มีแบรนด์ (Brand) ที่มีความแข็งแกร่งมาถึง 80 ปี มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นแตกต่างเป็นที่รู้จักของคนไทย 2.มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบโจทย์ทุกการแข่งขัน 3.มีเครือข่ายตัวแทนชั้นนำ 4.มีช่องทางการจัดจำหน่ายอื่นๆ ผ่านพันธมิตรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว 5.มีผู้บริหารที่มากประสบการณ์ 6.มีความสามารถในการทำกำไรอย่างแข็งแกร่ง โดยมุ่งเน้นสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาว" นางวรางค์ กล่าวเสริม
นายนิติพงษ์ ปรัชญานิมิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่หลากหลายที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ปรับเปลี่ยนไป อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับเปลี่ยนไปผลิตภัณฑ์ไปตามสภาพแวดล้อมได้เสมอ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตมีเงินปันผล ประกันชีวิตควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งประชาชนให้ความสนใจด้านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนอย่างมาก ผลจากเบี้ยประกันรับในปี 2562 ทำได้ 80 ล้านบาท เพิ่มเป็น 827 ล้านบาทในปี 2564 มูลค่ากำไรเพิ่มขึ้นจาก 13 ล้านบาทในปี 2562 เพิ่มเป็น 242 ล้านบาท ในปี 2564
อีกด้านหนึ่งบริษัทฯ มีตัวแทนประกันชีวิตมากกว่า 64,000 ราย คิดเป็น 25% ของตัวแทนทั้งหมดในประเทศไทย และกว่า 30% ตัวแทนอยู่กับบริษัทมานานกว่า 10 ปี จึงสามารถติดต่อและมีความสัมพันธ์กับลูกค้ามาได้อย่างยาวนาน และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้ามาโดยตลอด อีกทั้งมีสาขาทั่วประเทศ 242 แห่ง ดังนั้นจากตัวแทนทั้งหมดคิดเป็นตัวแทนต่างจังหวัดกว่า 49,000 คน ที่สามารถดูแลลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ทำให้ 3 เดือนแรกสามารถสร้างรายได้จากต่างจังหวัดถึง 68% ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งหมดในช่องทางตัวแทน
นายวิญญู ไชยวรรณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทฯ มีช่องทางพันธมิตรที่หลากหลายได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ องค์กรของภาครัฐ เช่น ไปรษณีย์ไทย, บริษัทลิสซิ่ง, บริษัทเช่าซื้อ บริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค เช่น เคทีซี และอิออน , การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์, สวัสดิการพนักงานกลุ่ม ตลอดจนช่องทางดิจิทัล
สำหรับช่องทางธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันมีพันธมิตร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารไทยเครดิต โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์แบบคุ้มครองสินเชื่อ สะสมทรัพย์ และยูนิตลิงค์ แต่ปีนี้บริษัทฯ มีเป้าหมายขยายช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมา และปีนี้จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไม่ซับซ้อน ราคาไม่สูงมาก เช่นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และประกันแบบสะสมทรัพย์ระยะสั้น
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นญี่ปุ่น เมจิยาซึดะ (Meiji yasuda) ยังมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการประกันภัยและพัฒนาระบบดิจิทัล รวมถึงสนับสนุนการขยายตลาดไปลงทุนประเทศเมียนม่า ในอนาคตจะขยายไปยังประเทศกัมพูชาและประเทศลาว อีกด้วย
นายไมเคิล เฮียง ลี Chief Financial Officer บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2564 มีรายได้รวมกว่า 1 แสนล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 8,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา 9.1% สำหรับรายได้สุทธินั้นลดลงเล็กน้อยซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในทางกลับกันรายได้ของการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้รวมใกล้เคียงกับ 3 ปีที่ผ่านมาที่ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ส่วนรายได้รวมไตรมาสแรกปี 2565 เติบโตขึ้น 3% เนื่องจากบริษัทมีระบบการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีจึงทำให้มีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวานิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จำนวนหุ้นของไทยประกันชีวิตมีทั้งหมด 10,600 ล้านหุุ้น โดยครอบครัวไชยวรรณ ถือตรงและผ่านบริษัทลงทุน 85% Meiji yasuda life 15%
สำหรับความคืบหน้าของแผนการเสนอขายหุ้น IPO โดยหุ้น TLI ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีและความสนใจในการลงทุนเป็นจำนวนมาก แม้ในภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวน โดยได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นที่ 16.00 บาทต่อหุ้น และ มีนักลงทุนสถาบัน ชั้นนำทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศรวม 18 ราย สนใจลงทุนเป็น Cornerstone Investors คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 18,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 50.0% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมดในครั้งนี้
จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการสร้างผลการดำเนินงานที่มั่นคง และศักยภาพในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องของไทยประกันชีวิต ผมเชื่อว่า TLI จะเป็นหุ้นคุณภาพอีกหนึ่งตัวสำหรับ นักลงทุนและตลาดทุนไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนในธุรกิจประกันชีวิตของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ Cornerstone Investors ของ TLI ประกอบด้วยนักลงทุนสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น GIC Private Limited, Oaktree Capital Management เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บลจ. กสิกรไทย บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. กรุงศรี บลจ. กรุงไทย บลจ. เอ็มเอฟซี เป็นต้น
หุ้นสามัญของไทยประกันชีวิตที่จะเสนอขายในครั้งนี้ มีจำนวนไม่เกิน 2,155,068,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 20.2 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการ IPO ในครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็น (1) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 850,000,000 หุ้น (2) การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยบริษัท วี.ซี. สมบัติ จำกัด จำนวนไม่เกิน 1,166,575,300 หุ้น และ (3) การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 138,493,600 หุ้น และอาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-allotment Option หรือ Greenshoe) อีกจำนวนไม่เกิน 161,630,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 7.5 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) ในช่วง 30 วันแรกหลังหุ้นของ TLI เข้าซื้อขาย ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้นและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน โดยปัจจุบันแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนได้รับการอนุมัติ จากสำนักงาน ก.ล.ต. และได้มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในการเสนอขายหุ้นสามัญของ TLI ในครั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการ จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายร่วม รวมทั้งมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 8 รายประกอบด้วย
บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัดบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด โดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น (Overallotment and Stabilizing Agent)