กรุงเทพฯ 8 มิถุนายน 2565 : บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) นำโดย นายธีรพันธุ์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ (ซ้าย) และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) นำโดย รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี (ขวา) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ชื่อ “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute) AIEI” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีคุณภาพรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงการร่วมสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนางานวิจัย ต่อยอดและประยุกต์ใช้งานวิศวกรรมเปิดพื้นที่การศึกษาด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์
นายธีรพันธุ์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่า “ทีซีซีเทค เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีโซลูชั่นครบวงจร ในเครือทีซีซีกรุ๊ปที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ สายธุรกิจอุตสาหกรรมการค้าสายธุรกิจค้าปลีก สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สายธุรกิจการเกษตร ฯลฯ ซึ่งโดยภาพรวมเราจะมุ่งเน้นในเรื่องความยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมมาเป็นแรงขับเคลื่อน นำความรู้มาเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ (Turn knowledge into business value) ซึ่งองค์ความรู้ที่จะช่วยในการพัฒนาคนให้เป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI จะต้องทำร่วมกัน ใน 3 มิติ คือ ภาคธุรกิจ ภาคองค์กร และภาคการศึกษา”
- ภาคธุรกิจ : ผลักดันให้ทุกคนเข้าใจ และสามารถนำเทคโนโลยี AI
กับธุรกิจมาผสานให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน - ภาคองค์กร : เพิ่มศักยภาพในการทำงานของบุคลากร ให้สามารถใช้งาน AI ได้ผลลัพธ์สูงสุดผ่านการอัพสกิลและรีสกิล เพื่อให้สามารถใช้เวลาที่เหลือไปต่อยอดพัฒนางานวิจัยด้าน AI ที่มีความยากและซับซ้อน
- ภาคการศึกษา : มุ่งหวังให้สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาได้ใช้งาน AI สำเร็จรูปในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ศักยภาพด้านใหม่ๆ ของ AI ที่ตลาดกำลังมองหา
ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เผยว่า “โครงสร้างหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ที่ได้รับเลือกเป็นหลักสูตรนำร่องนั้นได้ถอดความต้องการจากประสบการณ์งานวิจัยและการพัฒนาของคณาจารย์ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มาพัฒนาเป็นองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งสี่ด้านของสาขาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering)”
ความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่แห่งวงการการศึกษาในการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ