4 มิถุนายน 2565 : ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บน 3698 ปราจีนบุรี เสียหลักพุ่งชนเสาไฟฟ้า (โค้งอันตรายบริเวณฝั่งตรงข้ามศาลอาญา) ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 5 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 2 คน ถูกนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 นั้น
เบื้องต้นได้มอบหมายให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
โดยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บน 3698 ปราจีนบุรี ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดวันที่ 28 ธันวาคม 2565 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 - 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และจากการตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่ารถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไม่ได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจไว้แต่อย่างใด
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้โดยสารทั้ง 4 ราย ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิต จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่เป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ โดยสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ประสานงานกับสำนักงาน คปภ. จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป
ส่วนผู้ขับขี่ที่เสียชีวิต ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท (ค่าปลงศพ) สำหรับผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4 ทางสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ประสานโรงพยาบาลเพื่อแจ้งสิทธิประโยชน์ที่ผู้บาดเจ็บจะได้รับจากระบบประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงฤดูฝนอาจทำให้พื้นผิวการจราจรมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอให้ผู้ใช้รถตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถ รวมทั้งเมาไม่ขับปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย
โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย