8 พฤศจิกายน 2559 : ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM มองหลังเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ เชื่อเศรษฐกิจดีขึ้น หลังทั้ง ทรัมป์-คลินตัน ใส่เกียร์เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ชี้จุดเสี่ยงความขัดแย้งกับจีน หากมีการดำเนินนโยบายกีดกั้นทางค้า แนะไทยฉวยจังหวะดึงนักลงทุนต่างชาติลงทุนในไทยดันเศรษฐกิจปี 60 เติบโต หลังนโยบายสหรัฐจากผู้นำคนใหม่ไม่หนุนหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ TPP
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทการจัดการภาครัฐและเอกชน (MPPM) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ผู้นำสหรัฐคนใหม่จะเป็นใครก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ เนื่องจากนโยบายของทั้ง 2 พรรคต่างชูนโยบายเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาว่างงานที่ยังมีความเสี่ยงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้เข้าลงสมัครต่างเร่งชูนโยบายที่เร่งให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้นผ่านนโยบายการคลัง
โดยนายทรัมป์ใช้มาตรการลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 10% เพื่อเป็นแรงจูงใจภาคเอกชนลงทุนก่อให้เกิดการจ้างงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้มีความเสี่ยงที่จะเพิ่มภาระทางการคลังและกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณสมดุล ขณะที่นางคลินตันเน้นพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนประเด็นการค้าที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาจากความนิยมซื้อสินค้านำเข้าจากจีนและเม็กซิโก ที่มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทำให้ภาคการผลิตภายในประเทศสหรัฐต้องเผชิญกับปัญหาการย้ายฐานการผลิตส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล การจ้างงานและการส่งออก ทำให้นายทรัมป์ มีแนวทางสนับสนุนมาตรการกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการภาษี โดยคิดภาษีที่นำเข้าสินค้าจากจีนที่ 45% และเม็กซิโก 35% รวมถึงกำหนดภาษีนำเข้าทั้งหมดจากประเทศต่างๆ เป็น 20% และยุติการเจรจาการค้ารอบใหม่ หรือดำเนินมาตรการกับประเทศที่ละเมิดข้อตกลงทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการค้าของสหรัฐ
ทั้งนี้ หากสหรัฐมีความขัดแย้งกับจีนในประเด็นการค้าที่รุนแรง จะส่งผลกระทบเชิงลบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศสหรัฐ เนื่องจากจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ โดยมีสัดส่วนส่งออกไปจีน 7.7% และนำเข้าสินค้าอยู่ที่ 21.5% และอาจลุกลามไปสู่สงครามการค้าที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกในที่สุด
ขณะที่นางคลินตัน เลือกใช้แนวทางการขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ ที่มีสัดส่วน 68.8% ของ GDP โดยการลดภาษีให้กับบริษัทที่ตั้งโรงงานในประเทศ ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจโลกและการส่งออกของประเทศคู่ค้าที่ได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นการบริโภคในประเทศสหรัฐจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว
ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM มองว่า การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐต่อจากนี้ สามารถเลือกใช้นโยบายการคลังและการเงินเพื่อการบริหารได้ทั้งคู่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หากใช้นโยบายการคลัง จะเป็นภาระของรัฐบาลในการเลือกใช้งบประมาณและภาษีเป็นกลไกขับเคลื่อน ขณะที่นโนบายการเงิน เป็นภาระของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่ใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุน รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศประกอบกัน
อย่างไรก็ตาม หากนางคลินตัน เป็นฝ่ายชนะจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อ จึงมีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า
“เชื่อว่าหลังเลือกตั้งเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐจะดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า รวมถึงประเทศไทยที่มีสัดส่วนการค้ากับสหรัฐฯ มากถึง 10% จะได้รับอานิสงส์ไปด้วยและควรใช้โอกาสนี้สร้างบรรยากาศดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไทยเพิ่มขึ้น เพราะผู้สมัครทั้งสองฝ่ายมีท่าทีไม่สนับสนุนข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิคหรือ TPP ทำให้ไทยคลายความกังวลต่อการลงทุนของต่างชาติที่มีแนวคิดย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามเบาบางลงได้ โดยภาครัฐต้องเร่งรัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของภาครัฐ เพื่อเสริมขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้ดีขึ้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปี 2560” รศ.ดร.มนตรี กล่าว