30 พฤษภาคม 2565 : ในช่วงที่ผ่านมานี้กระแสรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง และมีคนที่เริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้นด้วยกระแสรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในรถยนต์ไฟฟ้าที่หลายๆ คนล้วนอยากจับจองก็คือ Telsa ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่เรียกได้ว่าเป็นกระแสมากๆ โดยทำให้เริ่มมีหลายๆ ค่ายรถ หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นด้วย แม้ว่า Tesla จะฮอตฮิตในหมู่กระแสรักษ์โลก แต่ในเรื่องของการลงทุนนั้น หลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลว่า กระแสรักษ์โลกของ Tesla นั้นไม่ใช่แค่ผักชีโรยหน้า เพราะตอนนี้กลับกลายเป็นว่า Tesla มีความเสี่ยงด้าน ESG
สำหรับ ESG นั้น เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance ปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล
แล้วทำไม Tesla ถึงมีความเสี่ยงด้าน ESG จากการประเมิน ESG ratings ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่เบา นักวิเคราะห์กองทุนรวม ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสริช (ประเทศไทย) จำกัด ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากที่ S&P ได้ปลด Tesla ออกจากดัชนี S&P 500 ESG Index อันเนื่องมาจาก บริษัทมีปัญหาในการจัดการต่อกรณีที่ถูกไต่สวนในระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายราย รวมถึงปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่โรงงานใน California ที่ผ่านมาคะแนนทางด้าน ESG ของ Tesla นั้นค่อนข้างคงที่ และมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีคะแนน ESG ดีขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ Elon Musk ได้ตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์ว่าสิ่งที่บริษัทพยายามทำอยู่นั้น เพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ดังนั้น เรื่องของ ESG Investing จึงเป็นเหมือนเรื่องหลอกลวง
ปัจจุบันราคาหุ้น Tesla มีราคาตลาดอยู่ที่ $709 ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ Morningstar ให้ไว้ที่ $750 ต่อหุ้น สำหรับคะแนน ESG ที่ Morningstar จัดอันดับให้กับบริษัทอยู่ที่ระดับ Medium ESG Risk Rating เท่านั้น โดยมีความเสี่ยงเรื่อง Product governance และปัญหาด้านอื่นๆ อีกด้วย การที่Teslaเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก ก็ควรจะมีคะแนนด้านความยั่งยืนในระดับที่สูง แต่จริงๆ แล้ว การประเมิน ESG ratings ของ S&P นั้น ยังเน้นไปที่เรื่องความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อบริษัทและมูลค่าของหุ้นอีกด้วย
ขณะที่ความเสี่ยงด้านอื่นๆนอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่จริงแล้ว Tesla ควรมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก ในด้านการปล่อย Carbon emissions รวมถึงกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องเมื่อเทียบกับบริษัทรถยนต์เครื่องสันดาปทั่วไป โดยในการประเมินโดย Sustainalytics พบว่า 89% ของรายได้บริษัท Tesla มีผลต่อเรื่อง Climate change และ Tesla ยังมีส่วนส่งเสริมต่อ United Nations Sustainable Development Goals (UNSDGs) ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่คิดว่าบริษัท Tesla เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการพัฒนาสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม Tesla กลับมีประวัติที่ไม่ดีเกี่ยวกับประเด็นเรื่องแรงงาน หลังจากที่โรงงานของบริษัทที่ California ถูกฟ้องร้องจากพนักงานจำนวนมากเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติและการถูกเหยียดเชื้อชาติ อีกหนึ่งปัญหา คือ เรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจากระบบขับเคลื่อนรถยนต์แบบ Self-driving cars ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ถูกไต่สวนโดย The U.S. National Highway Traffic Safety Administration ต่อข้อขัดข้องที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ขณะที่รถ Tesla ในจีนส่วนใหญ่ก็ถูกเรียกคืน นอกจากนี้ในอดีต Tesla ก็มีปัญหาเกี่ยวกับความโปร่งใสในการรายงานเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการจัดการของเสียที่เกิดขึ้น
ดังนั้น แม้ว่าการที่ Tesla จะช่วยลดคาร์บอนในระบบได้ แต่บริษัทยังมีปัญหาในการจัดการด้านอื่นๆซึ่งส่งผลต่อชื่อเสียงของบริษัท เช่น เรื่องธรรมมาภิบาล ปัญหาแรงงานในองค์กร การจัดการเรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติ และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาดการเงินให้ความสำคัญเช่นกัน
ขณะที่การให้ความสำคัญต่อเสียงของนักลงทุน ที่ผ่านมา Tesla ยังไม่ได้ถูกรวมอยู่ในดัชนีความยั่งยืนของ Morningstar เนื่องจากมีคะแนน ESG ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทก็ยังไม่ค่อยมีการเปิดเผยข้อมูลและให้ความสำคัญต่อนักลงทุนค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาที่ดีขึ้นในด้านนี้หลังจากที่การประชุมผู้ถือหุ้นในปีที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น เกี่ยวกับเรื่องการจัดการและความเสมอภาคในองค์กร ส่งผลให้ในปีนี้บริษัทเริ่มมีการจัดทำรายงานเรื่องดังกล่าวเพื่อเผยแผร่ให้กับนักลงทุนมากขึ้น