25 พฤษภาคม 2565 : TMBAM Eastspring และ Thanachart Fund Eastspring จัดงานสัมมนาออนไลน์ “ลงทุนอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังเจอมรสุม” เมื่อวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่ออัพเดตโอกาสการลงทุนในสถานการณ์ที่ตลาดการลงทุนผันผวนสูงมาก โดยได้รับเกียรติจาก นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ TMBAM Eastspring และ Thanachart Fund Eastspring, นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน TMBAM Eastspring และนายพงศ์สรร ยอดเมืองเจริญ, CFA, FRM ผู้อำนวยการส่วนบริหารผลิตภัณฑ์ TMBAM Eastspring
นายอดิศร ได้ให้มุมมองไว้ในช่วงต้นของงานสัมมนาว่า ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ค่อนข้างหนักหนาสำหรับตลาดลงทุนทั่วโลก แม้ว่าในปัจจุบันหลายประเทศจะเริ่มเปลี่ยนผ่าน โรคโควิด-19 จากการมองว่าเป็นการแพร่ระบาดไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นมากขึ้น ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติ และเศรษฐกิจโลกจะดูเหมือนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ผลตอบแทนในตลาดการลงทุนในหลายๆสินทรัพย์กลับไม่ได้ฟื้นตัวตามสถานการณ์โควิดที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าหุ้นจากประเทศหลักๆทั่วโลกโลกทำผลตอบแทนติดลบและติดลบค่อนข้างหนักพอสมควร
นายบดินทร์ ได้ให้ความเห็นเสริมว่า ปัจจุบันการลงทุนทั่วโลกกำลังกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยมี 3 ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยส่วนตัวเชี่อว่าอาจจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการลงทุนทั่วโลก
ประเด็นแรก ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯที่อาจเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และตลาดยังประเมิน ว่าโจทย์ของเฟดนั้นไม่ง่าย เพราะนอกจากจะทำให้เงินเฟ้อลดลงมาแล้วต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยด้วย
ประเด็นที่สอง ความเสี่ยงด้าน Supply Shock หลังจากที่นโยบาย Covid Zero ของจีนที่ทำให้เกิดการล๊อคดาวน์ในจีนอีกครั้ง โดยเริ่มมีคำถามกันว่า GDP ที่จีนตั้งเป้าไว้ 5.5% นั้นจะเป็นไปได้มั้ย เพราะล่าสุดทาง Bloomberg Economics ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนลงมาจาก5.1% เหลือ3.6% และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง Bloomberg ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนลงอีกครั้งเหลือเพียงโต 2.0% นอกจากนั้นการล้อคดาวน์ในจีนแต่กลับไม่ได้กระทบแค่จีน เพราะกระทบถึง Supply Chain ทั่วโลกที่ต่างพึ่งพาโรงานในจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนตัวเชื่อว่าความกังวลด้าน Supply Shock จะเริ่มส่งสัญญาณอีกครั้ง
ประเด็นสุดท้าย มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากยุโรป เพราะยังมีกลุ่มประเทศ ที่ยังพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอย่าง ฮังการี บัลแกเรีย สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ค ที่ยังคงไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังล่าว และขอยืดระยะเวลาออกไปขณะที่รัสเซียก็พร้อมจะตอบโต้อีกฝ่ายด้วยการตัดการส่งพลังงานไปยังประเทศที่ไม่จ่ายค่าพลังงานเป็นเงินรูเบิ้ล รวมถึงล่าสุดที่ทางรัสเซียจะไม่ส่งก๊าซไปยังฟินแลนด์เพื่อตอบโต้ที่ฟินแลนด์แสดงความจำนงเข้าร่วมกลุ่มนาโต้ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นอีกครั้ง และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในยุโรปเร่งตัวขึ้นอีก และเชื่อว่าอาจเป็นอีกแรงกดดันต่อการดำนโยบายการเงินของ ECB ที่เป็นอีกแรงที่ทำให้สภาวะการเงินโลกตึงตัวมากขึ้น
ต่อมา นายพงศ์สรร ได้อัพเดตกลยุทธ์การลงทุน 3 กองทุนที่จัดว่าเหมาะเป็นกองทุนหลบภัยในช่วงที่ตลาดกำลังผันผวนหนัก สำหรับกองทุน TMBGINCOME นั้น นายพงค์สรรได้อัพเดตกลยุทธ์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนหลัก (PIMCO GIS Income Fund) ว่า PIMCO มีการกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้หลากหลายประเภททั่วโลกตั้งแต่พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ และตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Securitized Asset) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยมหภาคที่เข้ามากระทบทั้งเรื่องความกังวลของปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือภาวะความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนได้
นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังมีการถือครองตราสารหนี้ที่สามารถชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond) และตราสารหนี้เอกชนในกลุ่มสันทนาการและท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยสามารถได้รับผลตอบแทนในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มมีการเปิดเมืองด้วย
อีกหนึ่งกองทุน TMBGINFRA กองทุนที่เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก และลงทุนในกองทุนหลักคือ Lazard Global Listed Infrastructure Equity Fund นายพงค์สรร ได้อัพเดตกลยุทธ์การลงทุนจากผู้จัดการกองทุนหลักไว้ว่า LAZARD ยังคงเน้นการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในกลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ เช่น ถนน ทางด่วน เสาส่งไฟฟ้า สนามบิน ฯลฯ เพราะสามารถสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนและอาจมีการปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง Infrastructure Fund เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังมีความน่าสนใจจากเป็นสินทรัพย์ที่เป็น defensive play (ข้อมูลจาก Lazard Asset Management)
ส่วนกองทุนสุดท้าย กองทุน TMBPIPF ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นที่ลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ (Property Sector) และ/หรือ หน่วย Infra ทั้งในและต่างประเทศ นายพงค์สรร ได้อัพเดตมุมมองต่อเศรษฐกิจและกลยุทธ์ในการลงทุนจากผู้จัดการกองทุนหลักไว้ว่า กองทุนยังคงเป้าหมายการลงทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานทั้งไทยและต่างประเทศ
โดยเน้นในกลุ่ม 1) Industrial REIT ในไทย เพราะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce และ Logistics รวมถึงแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างประเทศจากปัญหาซัพพลายเชนในจีน 2) กลุ่ม Retail REIT ในสิงคโปร์ เพราะได้รับประโยชน์จากค่าเช่าที่มีแนวโน้มกลับสู่สภาวะปกติภายหลังสถานการณ์ Covid ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการเปิดประเทศในนักลงทุนต่างชาติเข้าได้อย่างเสรีมากขึ้น ในขณะที่ผู้จัดการกองทุนยังคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มูลค่าไม่แพง และมีระดับหนี้ต่ำเข้าพอร์ตลงทุน
โดย นายพงค์สรร กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ผู้จัดการกองทุนหลักทั้ง 3 กองทุน ได้มีการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับสภาพตลาดในปัจจุบันให้สอดคล้องกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ยังมีการกระจายการลงทุนในหลากหลายกลุ่มธุรกิจและประเทศเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนโดยรวม ในระยะสั้น กองทุนอาจได้รับผลกระทบไปบ้าง แต่อย่างไรเชื่อว่าในระยะยาว จะสามารถกลับมาสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้