24 พฤษภาคม 2565 : นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ในโครงการบริหารจัดการน้ำใต้ดินและแหล่งน้ำชุมชนพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืน ร่วมกันแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร เพื่อให้ชุมชนและประชาชนได้มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำใต้ดินและแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืน เป็นศูนย์เรียนรู้และศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตรที่ครบวงจรสำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป โดยมีพื้นที่ดำเนินการ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้จัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด ภายใต้ความร่วมมือของ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ โดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ในพื้นที่ตำบลดูกอึ่งและเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี หรือที่เรียกว่า “โครงการหนองฮีโมเดล” ซึ่งถือเป็นโครงการแรก และสมาคมฯ ได้ทำการส่งมอบบ่อน้ำให้กับทางจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชนแล้วเมื่อปี 2563 และต่อมาในปี 2564 สมาคมฯ ได้มีการขยายพื้นที่ในการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินเพิ่มเติมในพื้นที่ ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของโครงข่ายธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ตามเจตนารมย์ในการเปลี่ยน “ทุ่งกุลาร้องไห้” ให้เป็น “ทุ่งกุลายิ้มได้”
สมาคมฯ จึงได้มีการต่อยอดโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนประกันภัยพืชผล รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,280,000 บาท ในการขุดบ่อน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 13 บ่อ และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน และศูนย์การเรียนรู้ด้านการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง และพืชผลนอกฤดูกาลในภาคอีสาน ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำใต้ดินเพื่อการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืน
พร้อมสาธิตการทำการเกษตรในพื้นที่นอกเขตชลประทานให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและขยายผลของวิธีการทำเกษตรสมัยใหม่เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน โดยมีกรอบและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันใน 3 ด้าน ดังนี้
1. การบริหารจัดการน้ำใต้ดินและแหล่งน้ำชุมชนพื้นที่นอกเขตชลประทานเพื่อการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืน โดยร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อสร้างเป็นต้นแบบในการศึกษาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างสมดุลและเพียงพอ
2. การถ่ายทอดองค์ความรู้ ข้อมูล เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำใต้ดินและแหล่งน้ำชุมชน โดยสนับสนุนการวิจัย การพัฒนา การฝึกอบรม และการถ่ายทอดองค์ความรู้ ข้อมูล เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำใต้ดินและแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่สนใจ
3. การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อใช้ในการเกษตร โดยศูนย์เรียนรู้และแปลงสาธิตการเกษตรที่จัดตั้งขึ้นในพื้นที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ จะเป็นสถานที่สำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ พร้อมสาธิตการทำการเกษตรในพื้นที่นอกเขตชลประทานให้กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่สนใจจะนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายสนอง ดลประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้
การร่วมมือกันในครั้งนี้ สมาคมฯ เข้าไปช่วยในการส่งเสริมให้เกิดการบริหารความเสี่ยงในการทำการเกษตร และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยพัฒนาองค์ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน สมาคมฯ มีความเชื่อมั่นว่า มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ดฯ มีความพร้อมในการสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน
รวมถึงการสร้างนวัตกรรมด้านการเกษตรและองค์ความรู้ใหม่ และสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ จัดการฝึกอบรม และเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตรที่ครบวงจรแห่งหนึ่งในภาคอีสาน และเป็นต้นแบบสำหรับภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนองค์กรที่มีความสนใจให้การสนับสนุน ได้ทำการขับเคลื่อน ขยายผลและต่อยอดแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเช่นนี้ไปใช้ในพื้นที่แห้งแล้งอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป นายอานนท์ กล่าวปิดท้าย