7 พฤศจิกายน 2559 : นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในพระบรมโกศเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 จนถึงปีนี้ 2559 พระองค์ครองราชฯยาวนานถึง 70 ปีกับอีก 126 วัน และนับตั้งแต่ปีแรกของการขึ้นครองราชฯของพระองค์ พระองค์ท่านไม่เคยนิ่งเฉย แต่กับทรงพระราชกรณียกิจต่างๆเพื่อให้คนไทยอยู่ดีกินดี ซึ่งยุคสมัยนั้นประเทศไทยยังไม่เจริญมากนัก ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ยังเดือดร้อน พระองค์ท่านเปรียบดังเทวดาที่ลงมาช่วยเหลือประชาชนชาวไทยทั้งประเทศให้สามารถอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า
ด้วยโครงการพระราชดำริที่จัดขึ้นมากว่าหลายพันโครงการ ในการทดลองและวิจัยโครงการต่างๆให้มีประสิทธิภาพก่อนที่จะนำลงไปช่วยพัฒนาประเทศ และพัฒนาคนให้มีศักยภาพต่อไป แต่สิ่งสำคัญที่พระองค์ทรงตรัสอยู่เสมอ คือ เศรษฐกิจพอเพียง การที่พระองค์ท่านทรงตรัสเรื่องนี้บ่อยครั้ง เพราะยังมีหลายคนไม่เข้าใจในปรัชญาดังกล่าวอยู่จำนวนมาก และประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่องในช่วงอดีต และปัจจัยลบจากนอกประเทศเรื่องต่างๆ ทำให้พระองค์ท่านจำเป็นต้องตรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้บ่อยๆ เพื่อเป็นการเตือนสติประชาชนของพระองค์ให้ประคองตนอย่างมีสติ ไม่หลงไปกับการเจริญเติบโตมากนัก เพราะวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คือตัวอย่างสำคัญที่หลายคนยังคงจำกันได้ดี
สำหรับปรัชญาเรื่องความพอเพียงของพระองค์ท่าน ที่มีพระราชดำริตอนหนึ่งเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541 ว่า “ให้พอเพียงก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา ก็ได้แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ”
หากคนไทยอยากที่จะดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเพียงยึดหลักง่ายๆ ตามพระราชดำรัสของในหลวงที่ทรงตรัสให้ประสกนิกรของท่านได้นำไปปฏิบัติตาม ที่ต้องยึดถึงความประหยัดในเรื่องของค่าใช้จ่ายลดความฟุ่มเฟือยในทุกๆ ด้าน ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต แม้ตัวเองนั้นจะอยู่ในภาวะที่ขัดสนเพียงใดก็ตามและต้องไม่แก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ ทำการค้าขายไม่ซื่อตรงจากใคร หากสามารถปฏิบัติตามที่พ่อหลวงท่านตรัสไว้ได้ ไม่ต้องกลัวว่าตัวเองหรือครอบครัวจะเกิดความทุกข์ยากในเรื่องต่างๆ ได้เพราะนั่นหมายความว่า บุคคลคนนั้น “ได้เข้าถึงความพอเพียงแล้วอย่างแท้จริง”
ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสเนื่องในวันพ่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ที่ทรงตรัสว่า “ เศรษฐกิจพอเพียง…เป็นการทั้งเศรษฐกิจหรือความประพฤติ ที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือ เกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมา คือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข…ทั้งหมดนี้พูดอย่างนี้ ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ใครต่อใครก็ต่อว่า…ว่าไม่มี จะว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่าประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง…”
หากประชาชนชาวไทยตั้งใจฟังพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอย่างมีสติ ก็จะเห็นว่า แท้จริงแล้วทรงเตือนพวกเราถึงเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างประหยัด พอเพียง และเรียบง่ายมาเป็นเวลานานแล้ว และสิ่งที่สำคัญที่สุดคงต้องเริ่มจากตัวเองเสียก่อน คือ ทุกคนต้องปรับพฤติกรรมการเป็นอยู่ของตัวเองให้มีชีวิตบนความพอดี พอเพียง ประหยัด อดออม อยู่อย่างเรียบง่าย จะได้ไม่แสวงหาประโยชน์บนความสกปรก ง่ายที่สุดก็คือ “ต้องประหยัด”
ชาวไทยนั้นโชคดีที่มีตัวอย่างในเรื่องของความประหยัด เพราะพ่อหลวงของเรานั้นทรงเป็นแบบอย่างให้คนไทยมาโดยตลอด ซึ่งเป็นพระอุปนิสัยที่ติดพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินีนาถ ทรงฝึกให้พระราชโอรสและพระราชธิดา รู้จักวิธีการประหยัด อดออม ด้วยการตั้งกระป๋องออมสินไว้กลางที่ประทับ ทรงเรียกว่า กระป๋องคนจน โดยเมื่อถึงสิ้นเดือนจะทรงประชุมทั้ง 3 พระองค์ว่า จะนำเงินก้อนนี้ไปทำประโยชน์ อย่างไร หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจนอย่างไร
และปรัญญาดังกล่าวส่งผลให้ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. น้อมนำหลักการทรงงาน การออมภาคประชาชนคือการแก้ปัญหาจากจุดเล็ก เพื่อการพัฒนาในภาพรวมตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พร้อมชวนประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของความพอดี ความสมเหตุสมผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ตามหลักปรัชญาพอเพียง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงยั่งยืนได้ในอนาคต
การน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาปรับใช้นั้น ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐหลายองค์กรก็นำมาสนองพระกระแสรับสั่งใช้เช่นกัน ดังเช่น หน่วยงาน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.โดย นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการ กล่าวว่า กองทุนการออมแห่งชาติจัดตั้งขึ้นเพื่อให้คนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองเรื่อง การชราภาพจากภาครัฐ เพราะคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะมีชีวิตยากจนหรือลำบากมากขึ้นเมื่อเป็นผู้สูงอายุ หลักการก็คือในตอนที่ยังมีแรงทำงาน
เมื่อมีรายได้ก็ควรกันเงินส่วนหนึ่งไม่ต้องมากมายแบ่งไว้ออม เพื่อเก็บเงินออมส่วนนี้ไว้ใช้จ่ายตอนเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีแรงหารายได้ด้วยตัวเองแล้ว โดยรัฐบาลจะสนับสนุนสมทบเงินออมให้เพิ่มเร็วขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง พร้อมคุ้มครองยามชราภาพด้วยการจ่ายบำนาญให้ตลอดชีวิตของสมาชิกที่มีการออมครบตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จะเห็นว่าแนวคิดการออมแบบ กอช. สามารถสะท้อนคุณค่าของหลักปรัชญาพอเพียงได้อย่างชัดเจน คือ ออมแต่พอดีมีเหตุผล ไม่ทำให้ตนเองลำบากมากเกินไป แต่ก็เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับชีวิตในอนาคต ซึ่งก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้ตัวเอง ลดความเสี่ยงที่ต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงและประหยัดอดออมอย่างมีเหตุผล พระองค์ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของพสกนิกรเป็นที่ตั้ง ด้วยพระอัจฉริยภาพที่ทรงชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนตามกรอบทางสายกลาง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้นำไปประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับชาติ จากการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่จุดเล็กๆ ก่อน ซึ่งจะส่งผลขยายวงกว้างนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้ในที่สุด
นับเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว ดังที่ปรากฏตามพระราชดำรัสบางส่วนที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะอยู่มั่นคงก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป
“การออมเงินวันนี้เพื่อความเป็นอยู่ที่พอดีพอเพียงในอนาคตตามแนวทาง กอช. จึงเป็นการดำเนินรอยตามคำสอนของพระองค์อย่างแท้จริง ที่เงินออมของสมาชิกแต่ละคนเป็นการออมเพื่อตัวเอง เป็นเสาเข็มของรากฐานความมั่นคงในชีวิต โดยการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่จุดเล็กๆ ในระดับปัจเจกบุคคล ใครที่มีการออมอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะทีละเล็กละน้อย ก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกันด้วย ทั้งส่วนที่เป็นเงินสมทบได้เพิ่มและส่วนที่เป็นดอกผล และถ้าสมาชิกออมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอตามเกณฑ์ของกฎหมาย เมื่อเงินออมก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากนั้นก็รอรับผลประโยชน์อีกส่วนหนึ่งในอนาคตคือเงินบำนาญรายเดือนที่จะเป็นความคุ้มครองให้ได้มีชีวิตที่พอดีพอเพียงไปตลอดชีวิต ตรงตามหลักปรัชญาความพอเพียงว่าด้วยความยั่งยืนนั่นเอง” นายสมพรกล่าว