29 เมษายน 2565 : ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงาน เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2565 ชะลอลงเล็กน้อย ตามการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนที่ปรับลดลงทั้งการบริโภคและการลงทุนสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม จากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งบั่นทอนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน
การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคธุรกิจ โดยปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และหมวดวัสดุก่อสร้างที่ความต้องการในประเทศลดลงและราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับลดลงจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตที่มีต่อเนื่อง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวจากรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทานเป็นสำคัญ หลังเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร โลหะ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นผลจากทั้งอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังคงขยายตัว และราคาสินค้าส่งออกบางประเภทที่ปรับสูงขึ้น อาทิ ข้าว และเหล็ก อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับลดลงบ้าง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะน้ำตาลที่ส่งออกไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ เชื้อเพลิง ปุ๋ย โลหะ และข้าวสาลี ซึ่งผู้ประกอบการมีการเร่งนำเข้าเนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกสัญชาติ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปตะวันออกปรับลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงขึ้นเป็นสำคัญ
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าปรับดีขึ้น ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังปรับเพิ่มขึ้น แม้จะชะลอลงบ้างจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากรายจ่ายลงทุน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นมากตามราคาพลังงานและราคาอาหารสด เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน