26 เมษายน 2565 : หลังจากที่ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตอกย้ำแนวโน้มเฟดในระยะถัดไปในการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกวิ่งสู้ฟัด กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯพุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.95% ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.92% ในช่วงที่ผ่านมา งานนี้เหล่ากูรูทางการเงินต่างพากันเป็นห่วง ต่างมองว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มแกว่งตัว sideways ได้ หากปัญหาสงครามเริ่มกดดันให้ตลาดพลิกกลับสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ หรือ รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง
ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลต่อตลาดบอนด์ของไทยด้วยเช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด ถึงกับออกโรงเตือนเลยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีลักษณะชันมากขึ้น อัตราผลตอบแทนระยะสั้นช่วงอายุ 0-2 ปี เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.60% - 0.80% ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยปรับขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ที่อยู่ในช่วง 0.50% - 0.70%
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสู่ระดับ 2.25% - 2.50% เป็นผลมาจากปัจจัยเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลักจำเป็นต้องกลับมาดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดเร็วและถอนสภาพคล่อง (QT) เร็วกว่าที่คาดไว้
งานนี้มองว่าระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยจะมีลักษณะชันมากขึ้นได้อีก ผลตอบแทนระยะสั้นมีแนวโน้มทรงตัวตามทิศทางการดำเนินดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มคงระดับที่ 0.50% ต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและยังไม่สามารถกลับไปขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็วๆ นี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทน 10 ปี มีแนวโน้มปรับขึ้นได้ ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของทางสหรัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed รวมถึงระดับเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวสูงจนกว่าเงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 2-3
และในช่วง1 – 2 ไตรมาสนับจากนี้ การลงทุนในตราสารหนี้อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นและอาศัยการคัดสรรตราสารที่มากขึ้น โดยเฉพาะด้าน ESG เพื่อคัดกรองบริษัทที่มีคุณภาพ ช่วยลดความผันผวนและDownside จากการลงทุน นอกจากนี้ ให้จับตาดูความชัดเจนในเรื่องการดำเนินนโยบายทางการเงิน ในปัจจุบันได้ Priced-In การขึ้นดอกเบี้ยไปมากพอสมควรแล้ว และตลาดจะให้ความสำคัญเรื่องการลดขนาดสินทรัพย์ (Quantitative Tightening)
ในระยะถัดไป นักลงทุนควรเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยของกองทุนไม่ยาวมากนัก หรือลงทุนในกองทุนตลาดเงินที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพ เพื่อลดความผันผวนให้พอร์ตการลงทุนโดยรวมและรอจังหวะกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น เมื่อความชัดเจนในเรื่องนโยบายการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีมากขึ้น
ขณะที่ ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ Team Head of SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมุมมองต่อตลาดเงินช่วงนี้ว่า แนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ผนวกInverted yield curve ส่งผลกดดันตลาดการเงินโลก ซึ่งธนาคารประเมินว่าเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้นอีกเพื่อจัดการเงินเฟ้อ มองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ต่อครั้ง ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า และขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 2.25% ในปี 2022 ทำให้ ECB ต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยตามในครึ่งหลังของปี ส่วนความกังวลเรื่อ ง Inverted yield curve ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดการเงินโลก และอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
การจัดสรรพอร์ตการลงทุน แนะสะสมหุ้นเวียดนาม ที่ยังคงมีภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและ Asian REITs รองรับแผนเปิดเมืองที่มีความชัดเจนของไทยและสิงคโปร์ พร้อมให้มีเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่อง (Neutral) ในพอร์ตโฟลิโอ ส่วนหุ้นสหรัฐฯรอจังหวะสะสม เมื่อ Valuation เริ่มน่าสนใจ