12 เมษายน 2565 : อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี สร้างความกังวลต่อค่าครองชีพของครัวเรือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมอยู่ที่ 5.73% YoY เพิ่มขึ้นจาก 5.28% เดือนกุมภาพันธ์ สาเหตุสำคัญจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่เร่งสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับสูงขึ้นมาก (+31.4% YoY)
นอกจากนี้ ราคาสินค้าในหมวดอาหารที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ไข่ไก่ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
(หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ที่ 2.0% จาก 1.80% ในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 4.75% และ 1.43% ตามลำดับ
อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากโดยแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 และอยู่เหนือกรอบของเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจากราคาพลังงาน แม้ว่าราคาไม่ได้เพิ่มขึ้นในทุกชนิดสินค้า
แต่กลับสร้างความกังวลให้แก่สังคมเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายและกำลังซื้อ จนทำให้ยอดค้นหาของคำว่า ‘เงินเฟ้อ’ ใน Google แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมร่วงลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 42.0 จาก 43.3 เดือนกุมภาพันธ์
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% จากแรงหนุนของราคาอาหารเพื่อบริโภคที่บ้านและราคายานพาหนะอีกทั้งราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยยืนอยู่เหนือกรอบเป้าหมาย และอาจใช้เวลาถึงไตรมาสสุดท้ายของปีกว่าที่จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรีพบว่าจากตะกร้าการบริโภคสินค้าที่มีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มคนรายได้ต่ำจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดอาหารเพื่อบริโภคที่บ้านและการขนส่งรวมกันราวสองเท่าของกลุ่มคนรายได้สูง จึงมีโอกาสเผชิญเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นกว่า 6 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนสวนทางกับกลุ่มคนรายได้สูงที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับปี 2564
ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมมีสัญญาณฟื้นแต่ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันการเติบโตในระยะข้างหน้า ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น สู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 89.2 จาก 86.7 ปัจจัยหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวตามการผ่อนคลาย มาตรการควบคุมการระบาดรวมถึงการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากหลายๆประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคมผู้ประกอบการมีการเร่งการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วิจัยกรุงศรีประเมินแม้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงต้นปีจะมีสัญญาณเชิงบวกจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศแต่ในระยะถัดไปปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่มีความเสี่ยงอาจลากยาวมากขึ้นกระทบเศรษฐกิจโลกและการค้าชะ
ลอลง ส่งผลต่อภาคการส่งออกและภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย
ขณะที่ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจะส่งผลต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากภาวะชะงักงันของอุปทานของโลกหากสถานการณ์การล็อกดาวน์ของจีนเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ระลอกล่าสุดมีแนวโน้มยืดเยื้อและเป็นวงกว้างมากขึ้นเนื่องจากมีการประเมินว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยมีการใช้ input จากจีนคิดเป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับมูลค่าผลผลิตรวมทั้งหมด (gross value added) สูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากเวียดนาม และฮ่องกง