11 เมษายน 2565 : นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group – Executive Chairman ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “สถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันมีความท้าทายสูง สืบเนื่องจากสภาวะตลาดที่ผันผวนจากวิกฤตการณ์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ‘ร่องรอยความเสียหายจากโควิด’ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าและภาวะเงินเฟ้อในทั่วทุกมุมโลก
นอกจากนี้ยังเกิด ‘วิกฤติหุ้นกู้จีน’ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายทางการเมืองเพื่อจัดระเบียบเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เกิดภาวะการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพลอยสร้างความเสียหายให้กับตลาดหุ้นจีนด้วย
ในขณะที่ ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ยังทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกปรับลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มที่ได้ประโยชน์ในช่วงโควิด ยิ่งไปกว่านั้น โลกยังต้องจับตามองความไม่แน่นอนจาก ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนหลายประเทศต่างพากันคว่ำบาตรประเทศรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไม่หยุด และหลายฝ่ายเกรงว่าอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อราคาพลังงาน”
จากเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อเนื่องกันอย่างรุนแรงและรวดเร็วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ จนนักลงทุนบางส่วนปรับพอร์ตการลงทุนไม่ทัน คำถามคือ ถึงจุดนี้ยังควรปรับพอร์ตหรือไม่ และปรับอย่างไร KBank Private Banking ขอเสนอ 5 แนวทางการปรับพอร์ตสำหรับนักลงทุนระยะยาว เพื่อรับมือกับวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก
1.ถือหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี : แม้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลงแรงในช่วงต้นปี แต่เมื่อดูราคาหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีในหลายกลุ่ม จะพบว่าราคาลงมาต่ำมาก เมื่อเทียบกับราคาในอดีตและมูลค่าพื้นฐาน และหากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย หุ้นในกลุ่มบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน มีส่วนแบ่งการตลาดสูง รวมถึงมีการเติบโตของรายได้และกำไรในระดับสูงจะปรับตัวขึ้นได้ดี เพราะมีคนรอซื้ออยู่มาก อย่างไรก็ตาม หากขายในช่วงนี้เพื่อรอซื้อใหม่แต่จับจังหวะผิด อาจพลาดการทำกำไรช่วงตลาดฟื้นตัวและจมอยู่กับผลขาดทุนได้
2. ทยอยเข้าซื้อหุ้นดีราคาถูก : หากนักลงทุนได้มีโอกาสขายทำกำไรไปก่อนหน้านี้แล้ว และถือเงินสดอยู่บ้าง น่าจะทยอยเข้าซื้อหุ้นดีราคาถูกที่มีโอกาสฟื้นตัวเร็ว เช่น หุ้นกลุ่มผู้ชนะในเศรษฐกิจใหม่ ที่ราคาลงมาลึก แต่ผลประกอบการดีเกินคาด
3.เปลี่ยนการลงทุนเข้าหากลุ่มที่จะฟื้นตัวได้เร็ว : สำหรับพอร์ตที่ลงทุนเต็มที่แล้ว ยังพอมีทางเลือกอีกวิธีเพื่อฟื้นพอร์ตกลับมาอีกครั้ง ด้วยการสลับกองทุน (Switching) เข้าหากลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ดีกว่าการขายออกแล้วถือเงินสด เช่น ขายกองทุนที่ราคาลงไม่มากไปซื้อกองทุนที่ราคาลงมากกว่า โดยเน้นกลุ่มที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีโอกาสฟื้นตัวได้มากกว่า
4. ปรับพอร์ตเพื่อเตรียมรับวัฎจักรเศรษฐกิจ : เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง นักลงทุนควรเริ่มการปรับพอร์ตเพื่อเตรียมตัวรับวัฎจักรเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เช่น ภาวะเงินเฟ้อสูงระยะยาวร่วมกับเศรษฐกิจที่โตระดับต่ำ (Stagflation) ในกรณีนี้นักลงทุนอาจเลือกลดการถือครองหุ้นที่โตช้าไปตามวัฎจักรเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่ม Laggard & Cyclical เช่น กลุ่มการเงิน หรือหุ้นยุโรป ลดการถือครองพันธบัตรและหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนต่ำและราคาลดลงหากดอกเบี้ยปรับขึ้น และเพิ่มการลงทุนที่ได้ประโชน์จากเงินเฟ้อ อาทิ สินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นเติบโตสูง เป็นต้น
5. เลือกกองทุนที่มีการบริหารแบบเชิงรุก (Actively Managed) : ในภาวะผันผวนสูง ถือเป็นการดีสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่เลือกกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารพอร์ตแบบเชิงรุก เพราะผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่เป็นแนวหน้าให้นักลงทุนในการปรับพอร์ตของกองทุนที่ถืออยู่ อาทิ การปรับการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ โดยลดอายุของพันธบัตรและหุ้นกู้ลงเพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การปรับกองทุนหุ้นด้วยการลดการลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติการณ์ และการปรับกองทุนผสมด้วยการปรับลดสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลง เป็นต้น
นายจิรวัฒน์ กล่าวตอนท้ายว่า ในช่วงวิฤติเศรษฐกิจเช่นนี้อาจะเป็นข้อได้เปรียบของนักลงทุนระยะยาวที่มีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลปรับพอร์ตให้ อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนระยะยาวนั้น คือ การถือครองการลงทุนเพื่อผ่านทุกวัฎจักรเศรษฐกิจ โดยจะมีทั้งช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเติบโตและชะลอลงบ้าง การถือพอร์ตในระยะยาวอาจต้องผ่านช่วงวิกฤติและพบการสูญเสียในบางครั้ง แต่เมื่อเทียบกับการลงทุนในช่วงเวลาเศรษฐกิจขาขึ้นที่มีมากกว่าแล้ว ผลตอบแทนเฉลี่ยก็ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย ระหว่างทางเพียงต้องปรับส่วนผสมของพอร์ตเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการลงทุน