4 เมษายน 2565 : หนึ่งในคำบอกกล่าวถึง “มังกรซ่อนเล็บ” อย่าง “เจริญ สิริวัฒนภักดี” หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในนาม “เจ้าสัวเจริญ” มหาเศรษฐีแสนล้านของประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินภายใต้อาณาจักรทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งหมดประมาณ 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ที่บรรดากูรูทางธุรกิจของเมืองไทยต่างยกย่องว่า เป็น “สุดยอดไร้เทียมทานและยากที่จะหาผู้ที่จะมาเทียบชั้นได้”
ใครจะไปรู้ละว่า "มังกรซ่อนเล็บ" ผู้เก่งกล้าในวันนี้จะกลายเป็น "มังกรเผ่น" ไปเสียแล้ว ถึงขนาดยกธงขาว ไม่ขอสู้ต่อกับธุรกิจประกันภัยที่ฟูมฟักมาหลายสิบปี เมื่อเจอกับสถาการณ์พลิกผันหน้ามือเป็นหลังมือจากกรณีประกันโควิด-19 "เจอ จ่าย จบ" โดยบริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ว่ามติคณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบให้ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ธุรกิจในเครือเลิกกิจการ จนทำให้หุ้น THG ดิ่งรับข่าวสารในทันที
ความตั้งใจของเจ้าสั่วกลายเป็นจริงในที่สุด... ที่ไม่ต้องการชิ้นเนื้อร้ายนี้อีกต่อไป จึงผายมือผลักภาระไปให้ทาง "กองทุนประกันวินาศภัย" รับไม้ต่อดูแลแทน ซึ่งยังมีกรมธรรม์โควิด-19 ที่มีผลบังคับอีก กว่า 1.17 ล้านกรมธรรม์ และสินไหมโควิดที่ยังค้างจ่ายอีกจำนวนมาก ที่ยังต้องเร่งแก้ไข แต่ผู้ถือหุ้นให้เหตุผลว่า ได้ทุ่มเงินเข้ามาเพิ่มเติ่มแล้วถึงกว่า 9,000 ล้านบาท ไม่สามารถเพิ่มได้อีกจึงโบกมือลาวงการประกันภัย "ตัดหางปล่อยวัด" ไปดื้อๆ แล้วงานนี้จะปิดจบง่ายๆ ได้อย่างไร
แต่อย่าลืมว่า "เจ้าสัวเจริญ" ยังแอบซุก "บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน)" ที่ยังเป็นบริษัทขนาดเล็กในวันนี้ มุ่งหมายในอนาคตคงจะปั้นให้ขึ้นมาเทียบชั้นอาคเนย์ได้ หากฝุ่นควันของโควิด-19 จางหายไป และก่อนหน้านี้ทางอาคเนย์จะพยายามโยกพอร์ตงานดี เช่น ประกันรถยนต์ ประกันภัยบ้าน ประกันทรัพย์สิน ฯลฯ ไปให้ บ.อินทรประกันภัย แต่สรุปทางคปภ.ออกมาเบรคเสียก่อนว่า กระทำการโดยพละการไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้าเท่านั้น งานดังกล่าวจึงกระจายออกไปอยู่กับบริษัทประกันภัยในระบบหลายแห่ง
หากมองในมุมของเจ้าของธุรกิจ พันธกิจสำคัญ คือ การทำให้บริษัทมีสินค้าดี ต้นทุนที่ต่ำ สร้างผลกำไร ผู้ถือหุ้นแฮปปี้ ซึ่งนั่นก็ใช้ได้กับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-อาหารที่ทางอาณาจักร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ทำอยู่และยิ่งโตวันโตคืนมูลค่ารวมๆ กันเกือบ 3 แสนล้านบาท แต่ในทางตรงกันข้ามธุรกิจประกันภัย เป็นสถาบันการเงินที่ต้องมีพันธกิจหลัก คือ ความซื่อตรง มั่นคง น่าเชื่อถือ มีหลักธรรมาภิบาล บริการเป็นเลิศ ผู้ถือหุ้นแฮปปี้ แตกต่างจากธุรกิจซื้อมาขายไปตรงคำว่า "โปร่งใส มีธรรมาภิบาล"
ความล้มเหลวของอาคเนย์ในครั้งนี้ พูดได้เลยว่า... สร้างภาพจำให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยเป็นอย่างมาก ทุกๆ ฝ่ายล้วนได้รับบทเรียนมากน้อยต่างกันไป แต่คนที่รับกรรมที่สุด คือ ประชาชน หากเป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคตประชาชนจะวางใจซื้อประกันภัยกันอีกต่อหรือไม่ จากนี้ไปบริษัทประกันภัยที่เหลืออยู่ต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก...เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ