WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
คปภ.เดินเครื่อง หาแหล่งเงินทุนให้กองทุนประกันวินาศภัย ชำระหนี้ค่าสินไหมโควิด ผุด 8 มาตรการพิจารณาให้รัดกุมก่อนออกผลิตภัณฑ์คุ้มครองโรคอุบัติใหม่

1 เมษายน 2565 : ภายหลังจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2565

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ภายใต้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ พร้อมทั้งชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุประกอบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเดือดร้อน

สำหรับยอดกรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่เหลือและยังให้ความคุ้มครองสำหรับทั้ง 2 บริษัท มีจำนวน 1.17 ล้านกรมธรรม์ (คิดเป็นเบี้ยประกันภัยประมาณ 700 ล้านบาท) อายุความคุ้มครองจะครบกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ จะทยอยครบสัญญาตั้งแต่เดือน เมษายน-มิถุนายน 65 ส่วนประกันภัยแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประกันโควิดได้ถูกโอนไปยังบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการเข้ารับโอนกรมธรรม์ไปแล้ว และยังเหลืออีกกว่า 200 กรมธรรม์ ที่ผู้เอาประกันภัยไม่สมัครใจที่จะโอนความคุ้มครองไปอยู่กับบริษัทอื่นๆ

ดร.สุทธิพลกล่าวต่อไปว่า ในส่วนสถานะของกองทุนประกันวินาศภัย ที่จะต้องเข้ามาดูแลต่อหลังจากบมจ.อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยปิดกิจการ ขณะนี้กองทุนฯ ยังมีเงินสำรองประมาณ 5-7,000 ล้านบาท หากไม่เพียงพอ โดยทางบอร์ดบริหารกองทุนประกันวินาศภัยมีการออกประกาศหลักเกณฑ์ในการกู้ยืมเงิน ซึ่งได้ประชุมร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารออมสิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของกองทุนประกันวินาศภัย นำเงินมาชำระหนี้ให้กับประชาชน ซึ่งยอดเคลมขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเพราะยังมีผู้คนเข้ามาเคลมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สถานการณ์โรคระบาดโควิดถือเป็นโรคระบาดใหม่ที่คาดไม่ถึง มีความรุนแรงและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น นับจากนี้ทางคปภ.มองว่า กระบวนการที่จะเห็นชอบกรมธรรม์ที่เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ทางคปภ.มีแนวทางที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. สำนักงานคปภ.จะมีการจัดตั้งทีมงานทางการแพทย์เข้ามาช่วยพิจารณาโรคระบาดใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือสาธารณสุข
2. กรมธรรม์ที่ไม่คุ้นเคยจะนำเข้าสู่กระบวนการ Regulatory Sandbok เพื่อพิจารณาทดลอง ทดสอบ โรคอุบัติใหม่ จำกัดกรอบและระยะเวลาของความคุ้มครอง เช่น อาจจะให้ความคุ้มครองในระยะเวลาสั้น สำหรับความเสี่ยงภัยที่ยังไม่คุ้นเคย เป็นต้น

3. กระบวนการควบคุมการขาย บริษัทประกันล้วนมีช่องทางที่หลากหลายในการให้บริการ แต่จะต้องมีกลไกลกระบวนการควบคุมวิธีการขายและจำนวนของการขายตามศักยภาพของบริษัทที่สามารถรับเสี่ยงภัยได้

4. พิจารณาแผนการบริหารความเสี่ยงของแต่ละบริษัทประกันภัย ขั้นตอนในการส่งประกันภัยต่อต่างประเทศ เพื่อบริหารความเสี่ยง
5. บริษัทประกันภัยจะต้องส่งรายงานความคืบหน้าของการขาย และการให้บริการมายังสำนักงานคปภ.แบบเรียลไทม์

6. การดำเนินการเพื่อเอาผิดกับกรรมการผู้บริหาร ที่มีส่วนทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย (อยู่ระหว่างขั้นตอนนำเสนอเข้าสภาฯ เพื่อขอแก้ไขพ.ร.บ.ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย) ก่อนหน้านี้ไม่มีการเอาผิดผู้บริหารที่ทำให้บริษัทเสียหาย อย่างมากที่สุดก็ทำได้แค่ถอดถอน กรรมการ หรือกรรมการผู้จัดการ ที่ให้อำนาจในทะเบียนดำเนินการ หรือกรณีที่บริษัททำผิดส่วนใหญ่ก็ทำได้เพียงเปรียบเทียบปรับเท่านั้น

7.นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
8.นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อพิจารณาป้องกันประเด็นการฉ้อฉลประกันภัย

"นับว่าเรื่องโควิดถือเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมประกันภัย ดังนั้นเชื่อว่าบริษัทที่สามารถอยู่รอดได้ภายหลังจากสถานการณ์โควิด ภายหลังจากที่มีการปรับตัวปรับกระบวนการกติกาของการดำเนินงาน จะส่งผลให้ระบบประกันภัยของประเทศไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เป็นภาพที่ควบคู่ไปกับที่คปภ.เข้าไปมีบทบาทในหน่วยงานกำกับดูแลของอาเซียน ดังนั้น ลำดับต่อไป คปภ.จะต้องเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยที่มีธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้น เพื่อดึงการนำความเชื่อมั่นกลับมา ให้บริษัทประกันภัยมีความพร้อมที่จะเป็นที่พึ่งต่อประชาชนต่อไป" ดร.สุทธิพลกล่าว

ย้อนรอยสถานการณ์ ก่อนที่จะปิดกิจการ

สถาการณ์โควิดของประกันภัยในช่วงปี 2563 มีการทำประกันภัยไม่มากนักขณะเดียวกันก็มียอดการเคลมสินไหมทดแทนเพียง 56 ล้านบาท ในต้นปี 2564 แต่เมื่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้นส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 มีจำนวนเคลมพุ่งสูงขึ้นถึง 683 ล้านบาท (ตัวเลขของทั้งระบบ) จากการติดโควิดจากสถานที่ท่องเที่ยวย่านทองหล่อ สุขุวิท จนกระทั่งโควิดก็ซาลง แต่สถานการณ์พลิกกลับมาเมื่อโควิดเปลี่ยนเป็นโอมิครอน ยอดเคลมดีดสูงขึ้นมาแบบก้าวกระโดนเพิ่มขี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 15,800 ล้านบาท จนส่งผลให้บมจ.อาคเนย์ประกันภัย (SEIC) และไทยประกันภัย (TIC) ขอเพิ่มทุนเงินกองทุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้น

โดยเดือนก.ย.-ต.ค.64 ผู้ถือหุ้น บ. ไทยประกันภัย (TIC) นำเงินเข้ามาเพิ่ม 6,900 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายสินไหมทดแทนให้กับบ.อาคเนย์ประกันภัย และในเดือนม.ค.65 เพิ่มเข้ามาอีก 300 ล้านบาท โดยรวมเพิ่มเงินเข้ามาแล้ว 9,900 ล้านบาท แต่สถาการณ์โควิดยังไม่ยุติ ยังมีประชาชนติดโควิดและเข้ามาเคลมกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อเห็นดังนั้นว่าตัวเลขยอดเคลมยังไม่หยุด บริษัทอาคเนย์และไทยประกันภัย จึงยื่นเรื่องมายังสำนักงานคปภ.เพื่อขอเลิกกิจการ

ลำดับไทม์ไลน์ ก่อนการปิดกิจการ มีดังต่อไปนี้

1. ตามที่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน ประกอบกับเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์สาธารณะ

โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นเหตุให้นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) มีคำสั่งให้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวและแก้ไขฐานะการเงินและดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนด

2. สำนักงาน คปภ. ได้เข้าควบคุมธุรกรรมการเงินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระหว่างที่มีคำสั่งดังกล่าว จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเร่งรัดให้ทั้งสองบริษัทจ่ายค่าสินไหมฯ เป็นผลให้ตั้งแต่วันที่ 16-31 มีนาคม 2565 สามารถเร่งรัดค่าสินไหมทดแทนและคืนเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยได้จำนวน 3,028 ราย เป็นเงิน 294.94 ล้านบาท

โดยก่อนมีคำสั่งฯ ตามมาตรา 52 สามารถเร่งทั้งสองบริษัทให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยที่ได้ยื่นกับสำนักงาน คปภ.ทั้งในส่วนกลาง สำนักงาน คปภ.ภาคและสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรณีร้องเรียน ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 สามารถเร่งรัดได้ 1,440 เรื่อง รวมเป็นเงิน 136.80 ล้านบาท

3. ต่อมาปรากฏพยานหลักฐานว่าบริษัททั้งสองไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนด โดยสำนักงาน คปภ. ได้รับแจ้งว่าคณะกรรมการบริษัทเครือไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อาคเนย์ฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมแก่บริษัท อาคเนย์ฯ อีกต่อไป ในขณะที่บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า

ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ของคณะกรรมการบริษัท พันธกิจมั่นคง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไทยประกันภัยฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติม อันเป็นการยืนยันได้ว่าทั้งสองบริษัทไม่มีแหล่งเงินทุนที่จะสามารถมาเสริมสภาพคล่องอีกต่อไปบริษัททั้งสองมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า ที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย

4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. เตรียมมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย โดยประสานความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันชีวิต ดังนี้

(1) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้แล้วกับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยตามที่ประกาศกำหนด โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว

(2) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับทั้งสองบริษัท สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยตามที่ประกาศกำหนดโดยกองทุนประกันวินาศภัยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

(3) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทของทั้งสองบริษัท สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ดังนี้ ในกรณีขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ได้แก่

(1) กองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 26-30

(2) สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทุนประกันวินาศภัยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับเอกสารหลักฐานการขอรับชำระหนี้แล้วส่งต่อให้กองทุนประกันวินาศภัยต่อไป โดยผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นได้ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ดังนี้ ในส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2515-3999 หรือ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect)

สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2476-9940-3 และสำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2361-3769-70 ในส่วนภูมิภาค สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ

ดร.สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนา Web Application โดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยของทั้งสองบริษัทได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยทางออนไลน์ อีกทั้งยังร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์รวม 124 คู่สายทั่วประเทศ เพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันแรก นับแต่วันที่มีการเพิกถอนใบอนุญาตของทั้งสองบริษัท ได้มีการให้บริการโทรศัพท์ผ่านสายด่วน คปภ. 1186 จำนวน 10 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัท ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ 1) กรมธรรม์ประกันภัย 2) บัตรประจำตัวประชาชน

3) ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ และ 4) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) และหากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ 1) หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ 2) บัตรประจำตัวประชาชน และ 3) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)

ในกรณีที่หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัทฯ

รวมทั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 สำนักงาน คปภ. ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อสอบสวนว่ามีกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทรายใดบ้างที่กระทำการเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย และสำนักงาน คปภ. จะจัดให้มีทีมการตรวจสอบพิเศษ (Special Audit) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องกรณีที่บริษัทมีการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น ในช่วงก่อนที่มีคำสั่งนายทะเบียนตามมาตรา 52

สำหรับรายชื่อบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ สามารถดูได้จากเว็บไซต์สำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line Chatbot@Oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย 

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP