30 มีนาคม 2565 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อบ่ายวันนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 15 ติดต่อกัน
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัว 3.2% ในปี 2565 และ 4.4% ในปี 2566 โดยการปรับลดประมาณการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาสินค้าและอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายประมาณ 1-3% ก่อนที่จะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในต้นปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และอยู่ที่ 1.7% ในปี 2566 ตามลำดับ
โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ในปี 2565 แถลงการณ์ของ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% จึงเหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว
สืบเนื่องจากแถลงการณ์ของ กนง. ที่เป็นไปดังคาด ค่าเงินบาททรงตัวอยู่ที่ 33.33 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินบาทนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากปลายปี 2564 แต่มีการอ่อนค่าในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและการคาดการณ์การลดสภาพคล่องจากระบบของเฟด โดย กนง. เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 แถลงการณ์จากการประชุมครั้งนี้เน้นย้ำมุมมองของกรุงศรีว่า ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากภายนอกต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย กนง. ก็ยังคงย้ำจุดยืนเดิมในด้านดอกเบี้ยนโยบาย กรุงศรีมองว่าการปรับเปลี่ยนใด ๆ จะขึ้นกับสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอันเป็นรูปธรรม
กนง. ยังคงย้ำว่าความไม่แน่นอนต่าง ๆ ของปัจจัยภายนอกที่เพิ่มขึ้นนั้นยิ่งส่งผลให้การประสานกันของนโยบายและมาตรการทางการคลังที่ตรงจุด ยิ่งมีความสำคัญ ปัจจัยหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจและภาพรวมของเงินเฟ้อนั้นรวมถึงราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก การส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้น
กรุงศรีมีความเห็นว่า การเพิ่มคำว่า “ภาพรวมเงินเฟ้อ” ในแถลงการณ์ของ กนง. นั้น แสดงให้เห็นถึงข้อกังวลต่อความเสี่ยงทั้งด้านการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะถัดไป แต่ในอนาคตอันใกล้เรายังคงให้น้ำหนักกับการตรึงดอกเบี้ยนโยบายต่อไป