3 พฤศจิกายน 2559 : กสิกรไทยจับมือไอบีเอ็ม นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ใช้รับรองเอกสารต้นฉบับเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยสร้างระบบให้บริการการเก็บรักษา และเรียกใช้เอกสารต้นฉบับดังกล่าว และเน้นความถูกต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ลดความเสี่ยง สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย หวังเป็นต้นแบบในการเชื่อมต่อข้อมูลโลกธุรกิจจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยองค์กรและธนาคารอื่น ๆ สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อประโยชน์ของลูกค้าในวงกว้างต่อไปในอนาคต คาดว่าจะเริ่มทดลองใช้ปี 2560 นี้
นายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป เปิดเผยว่า KBTG ในฐานะกลุ่มบริษัทของธนาคารกสิกรไทยที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) จัดทำการให้บริการรับรองเอกสารต้นฉบับ ซึ่งจะเหมาะกับทั้งลูกค้าองค์กรและลูกค้ารายย่อย โดยพิจารณาถึงความปลอดภัยของการเก็บข้อมูล การกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องรูปแบบการให้บริการนี้ สามารถลดขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน สามารถยืนยันความถูกต้องน่าเชื่อถือของข้อมูล มีความโปร่งใส ปลอดภัย และตรวจสอบได้
สำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนวิธีคิดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งธนาคารได้นำมาทดลองใช้กับการรับรองเอกสารต้นฉบับ โดยโครงสร้างพื้นฐานบล็อกเชนที่นำมาใช้ในครั้งนี้มีชื่อว่าไฮเปอร์เลจเจอร์ (Hyperledger) ของ บริษัท ไอบีเอ็ม ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อการประยุกต์ใช้สำหรับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานในมาตรฐานเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว มีลักษณะพิเศษที่สามารถกำหนดสิทธิ์ให้ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น (Private Blockchain)
เบื้องต้นธนาคารมีการสร้างระบบการให้บริการที่เรียกว่า OriginCert API และนำมาใช้กับการรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee: LG) ซึ่งจะช่วยลดกระบวนการที่ใช้ในการออกหนังสือเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้เร็วขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงและใช้งานเอกสารหนังสือค้ำประกันในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง และปลอดภัย โดยบริการ OriginCert API นี้สามารถให้ธนาคารอื่น ๆ ที่สนใจเข้าร่วมและใช้กับองค์กรที่ต้องการเอกสารหนังสือค้ำประกัน ที่รวดเร็วถูกต้อง และปลอดภัยได้
“ปัจจุบันธนาคารกำลังทดลองโปรแกรมเชื่อมต่อข้อมูลอยู่กับ 2-3 บริษัทที่เป็นองค์กรภาครัฐ แต่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการทดลองอย่างจริงจังต้นปี 2560 และธนาคารกำลังยื่นขออนุญาตทำธุรกรรมทางการเงินใน 3 เภทอีกด้วย “นายสมคิดกล่าว
ด้านนางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าบล็อกเชน และคลาวด์ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อการปฏิรูปการทำธุรกรรมหรือ Transaction ขององค์กรธุรกิจ
ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยี ไฮเปอร์เลจเจอร์ (Hyperledger) ในการพัฒนาบล็อกเชนผ่านบริการคลาวด์แพลตฟอร์มบลูมิกซ์ที่มีความโดดเด่นในการเอื้อความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วแก่นักพัฒนาในการสร้างแอปพลิเคชั่น
ยกตัวอย่าง ประโยชน์ของบล็อกเชน คือ สามารถผูกให้ปาร์ตี้ต่างๆ เข้ามาใช้มูลเดียวกัน เช่นอาจจะมีธนาคารมากกว่า 1 แห่งเข้ามาใช้ข้อมูลเดียวกันจากจำนวนลูกค้ามากมาย หรือ ตลาดหลักทรัพย์สามารถทำธุรกรรมผ่านลิขสิทธิ์ โอนลิขสิทธิ์การถือครองหุ้นได้ ระบบนี้จะเก็บเอกสารในรูปแบบดิจิตอล หรืออีกกรณีหนังสือสัญญา โฉนดที่ดิน หากกรมที่ดินนำขึ้นบล็อกเชน ก็จะถือว่าเป็นเอกสารต้นฉบับ ตัวจริงที่การันตีโดยกรมที่ดิน เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีการร่วมมือกับ IBM Bluemix Garage ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม นักออกแบบนักพัฒนาแอปพลิเคชั่น และผู้รับผิดชอบผลิตภัณฑ์มาทำงานร่วมกันภายใต้แนวคิด Design Thinking หรือหลักการออกแบบประสบการณ์ดิจิตอลของไอบีเอ็ม ที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีเครือข่าย IBM Bluemix Garage คลอบคลุมใน 4 ประเทศ ซึ่งในปีนี้ไอบีเอ็มได้ประกาศความร่วมมือด้านบล็อกเชนกับองค์กรชั้นนำอีกมากมายทั่วโลก
“ปัจจุบันในต่างประเทศมีผู้ใช้บริการ 300 ราย ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับการยอมรับอย่างมาก คาดว่าในประเทศไทยจะได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาคเอกชนภายใน 1 ปี” นางพรรณสิรี กล่าว