WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
Bitcoin กลายเป็นที่พึ่งของนักลงทุนในภาวะสงคราม!

8 มีนาคม 2565 : นับตั้งแต่ที่ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยืนกรานคัดค้านยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และมีความเชื่อมโยงกับแถลงการณ์ มอนโร ดอคทริน (Monroe Doctrine) ที่มีความสำคัญต่อการวางรากฐานนโยบายต่างประเทศสหรัฐมากว่า 200 ปี จนปัญหาบานปลายกลายเป็นศึกใหญ่กันอยู่ในขณะนี้ ทำให้คนทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างที่เลี่ยงกันไม่ได้

แต่ภายใต้วิกฤตนั้น อาจจะเป็นโอกาสในการลงทุนที่จะได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนผ่าน Cryptocurrency โดยเฉพาะ Bitcoin ซึ่งก่อนหน้านี้ Bitcoin ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น้อยเช่นกัน ล่าสุด นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) บิทาซซ่า ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา CoinGecko รายงานว่าปริมาณซื้อขายคริปโตใน Exchange ใหญ่ของยูเครนชื่อ Kuna เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าหลังจากที่รัสเซียได้เริ่มทำการโจมตียูเครน ขณะที่ Stablecoins อย่าง USDT ก็มีความต้องการเข้ามาอย่างมากจนราคาอยู่ในระดับพรีเมียมกว่าราคาตลาดปกติ

พร้อมกันนี้ ธนาคารกลางยูเครนได้สั่งจำกัดการถอนเงินสดต่อวันไม่เกิน 3,533 ดอลลาร์ รวมถึงห้ามซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ทำให้ประชาชนยูเครนต้องหันมาพึ่งพา Cryptocurrency ฟาก Mykhailo Fedorov รองนายกรัฐมนตรียูเครนประกาศเปิดรับเงินบริจาคช่วยเหลือประเทศยูเครนด้วย Bitcoin,Ethereum และ USDT ชาวยูเครนยังได้แห่กันบริจาค Bitcoin ให้กับกองทัพยูเครนเป็นมูลค่ากว่า 6.5 ล้านดอลลาร์ ภายใต้ชื่อ “Come Back Alive” ขณะเดียวกันประชาชนแคนาดายังแห่กันถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารมาซื้อ Bitcoin หลังรัฐบาลขู่ที่จะปิดบัญชีธนาคารหากไม่หยุดประท้วงกรณีโดนบังคับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

เห็นได้ว่า Bitcoin คือทางเลือกหนึ่งของประชาชนในยามที่ระบบการเงินและความมั่นคงของประเทศเริ่มมีปัญหา นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ Bitcoin เข้าสู่ Mass Adoption มากขึ้น นอกจากนี้ ทาง ZYcrypto ได้ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างมีโอกาสนำ Bitcoin มาใช้เป็นสินทรัพย์และสกุลเงินทางเลือกในภาวะสงครามทั้งคู่ แม้ว่าทองคำอาจจะยังเป็นที่ต้องการมากกว่า

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ทางบลจ.ยูโอบีมีความเห็นต่อวิกฤตในยูเครน คาดว่าจะทำให้นักลงทุนปรับเงินลงทุนมายังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น (Risk Off Mode) และมีโอกาสที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะสูงขึ้นทั้งจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น หากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในการเผชิญหน้าทางทหารและรัสเซียตอบโต้

โดยการลดการส่งออกพลังงานหรือมีการแซงชั่นจะทำให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นจากระดับที่สูงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หาก NATO ไม่เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง ถ้าเกิดการสู้รบกันขึ้นก็น่าจะค่อนข้างจำกัดขอบเขต ในอดีตความขัดแย้งทางด้านการเมืองระหว่างประเทศในระดับที่จำกัดขอบเขตมักจะทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงเพียงเล็กน้อยก่อนจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

จากสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน การลงทุนในหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ นโยบายการเงินที่รัดกุมของ Fed (Tightening Policy) และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน ปัจจัยดังกล่าวมักส่งผลให้ความคาดหวังของผลตอบแทนลดลง ความผันผวนในตลาดสูงขึ้น อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเหตุการณ์ในอดีตพบว่า การเริ่ม Tightening Cycle ช่วงแรกมักจะทำให้ตลาดปรับฐาน และเป็นการปรับฐานใน Bull Market โดยตลาดหุ้นสามารถกลับขึ้นมาได้ ตามสภาพเศรษฐกิจที่ยังเติบโตอยู่ในอัตราที่ช้าลง

พร้อมกันนี้ บลจ.ยูโอบี ได้แนะนำกลยุทธ์การลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลกในภาวะแบบนี้ โดย

1.เพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินสด เนื่องจากตลาดอยู่ในช่วงของการปรับฐาน การเพิ่มสัดส่วนเงินสดจะช่วยลดความผันผวนและเพิ่มโอกาสในการลงทุนในลำดับถัดไป

2.กระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ อาทิเช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน REITs และทองคำ จากปัจจัยความเสี่ยงในหลายๆด้านที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนอย่างมาก ความแน่นอนของผลตอบแทนลดลง

3.หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าสูง เช่น หุ้นเทคโนโลยี หุ้นเติบโต ซึ่งมักจะถูกกดดันเมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้น

4.กลุ่มหุ้นที่มีความน่าสนใจหลังจากตลาดปรับฐานเสร็จสิ้นหรือความผันผวนลดลง ได้แก่ กลุ่ม Cyclical, ประเทศหรืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัว การลงทุนในภูมิภาคเอเชียมีความน่าสนใจกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐและยุโรป) 5.ราคาตราสารหนี้คาดว่าจะปรับสูงขึ้นจาก Yield ที่ลดลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามและอาจเป็นจังหวะให้ปรับพอร์ตการลงทุน

6.สำหรับตราสารหนี้ ยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะสงคราม สถานการณ์เงินเฟ้อที่อาจผ่อนคลาย และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงจากดอกเบี้ยระยะสั้นที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อาจเป็นปัจจัยบวกต่อตราสารหนี้ในลำดับถัดไป 7. บลจ.ยูโอบี ไม่มีการลงทุนตรงในหุ้นหรือตราสารหนี้รัสเซียและยูเครน

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ไม่มีส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และไม่มีเงินลงทุนในผู้ออกที่เกี่ยวข้องกับคู่กรณีรัสเซีย และยูเครน รวมถึง ยุโรป แต่อาจได้ผลกระทบอ้อมบ้างจาก 1.Risk On/Risk Off : อาจทำให้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าระยะสั้นและมีแรงเทขายตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างประเทศ ในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ดี คาดว่า นักลงทุนต่างประเทศจะกลับเข้ามาลงทุนในเงินบาทและพันธบัตรภายหลังจากการตื่นตะหนกแล้ว เนื่องจากประเทศไทยรวมถึงกลุ่มประเทศเอเชีย ไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรง จึงน่าจะเป็นตลาดที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน

2.เงินเฟ้อ : เงินเฟ้ออาจเร่งตัวสูงขึ้นต่อ จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยยังคงจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะไปควบคุมเงินเฟ้อในช่วงระยะนี้ จนกว่าประเทศไทยจะสามารถเปิดการท่องเที่ยว ที่เป็นธุรกิจที่สำคัญที่สุดต่อการฟื้นฟูจากผลกระทบ COVID-19

3.ธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ ธุรกิจท่องเทียว น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากไปกว่านี้มากนัก แต่อาจยืดเวลาการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวออกไปอีก เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศส่วนใหญ่มาจากยุโรป

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้ในประเทศนั้น ปัจจุบันการลงทุนของกองทุนได้เพิ่มความระมัดระวัง โดยได้มีการจัดเตรียมสภาพคล่องบางส่วนของกองทุนรวมมาในช่วงก่อนหน้า และเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี หากผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น อาจเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรระยะปานกลาง

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนตราสารทุนในประเทศ มีความกังวลถึงสถานการณ์ของUkraine Valuation ของตลาดที่สูง และความเสี่ยงจาก Fed Tightening ดังนั้น จึงได้เพิ่มความระมัดระวังต่อพอร์ตตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยได้มีการลดน้ำหนักการลงทุนเล็กน้อย แต่เน้นการเปลี่ยนถ่ายจากหุ้นขนาดเล็กไปหุ้นขนาดใหญ่และปรับสัดส่วนพอร์ตให้เป็น Value Portfolio มากขึ้นดังเห็นได้จากค่า Volatility ของพอร์ตที่ปรับลดลง 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP