WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
วีซ่า เผยสถิติคนไทยใช้จ่ายแบบไร้เงินสดสูงถึง 43% ล่าสุดจับมือ M-FLOW ผ่านฉลุยแตะเพื่อจ่ายค่าผ่านทาง

กรุงเทพฯ, 2 มีนาคม 2565 : วีซ่า ประเทศไทย เผยข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study)[1] ว่าเกือบเก้าในสิบของคนไทยเลือกใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไร้เงินสด โดยเกือบครึ่ง (43 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ที่พยายามใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดสามารถอยู่ได้มากกว่าหนึ่งสัปดาห์โดยไม่ต้องพึ่งเงินสด โดย 79 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่ไม่เคยใช้จ่ายแบบไร้เงินสด บอกว่า พวกเขารู้สึกมั่นใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ในช่วง 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 11 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับผลการศึกษาในปีที่ผ่านมา

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อดูผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งก่อนหน้า เราเห็นว่าตัวแปรหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยให้พึ่งพาเงินสดน้อยลงประมาณ 10% และก่อให้เกิดทัศนคติที่ดียิ่งขึ้นต่อการใช้จ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัลคือสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาในปีนี้และการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลากหลายอุตสาหกรรม เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มกลายเป็นพฤติกรรมที่ผู้บริโภคเลือกที่จะทำด้วยตนเอง มากกว่าที่จะถูกผลักดันจากปัจจัยภายนอก ซึ่งหมายความว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้จะถาวรและยั่งยืนมากขึ้น”

การศึกษาพบว่า มากกว่าสามในห้า (61 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริโภคชาวไทยบอกว่าพวกเขาถือเงินสดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักสามประการที่ทำให้พวกเขาลดการใช้จ่ายด้วยเงินสด ได้แก่ การเลือกชำระแบบดิจิทัลมากขึ้น (77 เปอร์เซ็นต์) ความกังวลเรื่องการติดต่อของโรคระบาดผ่านการถือเงินสด (54 เปอร์เซ็นต์) และพวกเขาพบว่าจำนวนร้านค้าที่รับชำระแบบดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น (45 เปอร์เซ็นต์)

โดยหมวดร้านค้าห้าอันดับแรกที่ผู้บริโภคชาวไทยเห็นว่าจะดำเนินการแบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ (67 เปอร์เซ็นต์) ชำระค่าบริการจ่ายบิล (64 เปอร์เซ็นต์) ซูเปอร์มาร์เก็ต (62 เปอร์เซ็นต์) ระบบขนส่งสาธารณะ (56 เปอร์เซ็นต์) และร้านขายอาหารและร้านอาหารแบบนั่งทานในร้าน (55 เปอร์เซ็นต์)

การชำระเงินแบบไร้สัมผัสหรือคอนแทคเลส ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคใช้จ่ายได้อย่างง่ายดายเพียงแตะบัตรชำระเงิน หรือสมาร์ทโฟนที่จุดรับชำระ พร้อมมอบประสบการณ์ในการใช้จ่ายที่เหนือกว่าให้กับผู้ใช้ทั้งความรวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวกสบาย ระบบชำระเงินแบบคอนแทคเลสกำลังได้รับความนิยมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าปลีกทางกายภาพและการเดินทาง ในปัจจุบันผู้โดยสารผ่านระบบขนส่งในกรุงเทพฯ สามารถใช้บัตรเครดิตแบบคอนแทคเลสชำระค่าบริการได้แล้วที่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง รวมถึงรถประจำทาง เรือไฟฟ้า และทางพิเศษโทลเวย์

จากการศึกษายังพบอีกว่า เกือบเก้าในสิบของผู้ตอบแบบสอบถาม (87 เปอร์เซ็นต์) มีการรับรู้เกี่ยวกับบัตรคอนแทคเลส โดยในกลุ่มของผู้ที่ยังไม่เคยใช้งานจำนวน 86 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า พวกเขาสนใจการชำระเงินรูปแบบนี้

“วีซ่ามุ่งสร้างสรรค์เพื่อสร้างหนทางให้ทุกคนในทุกที่มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล เราหวังว่าข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในประเทศไทยฟื้นตัว และเจริญเติบโตต่อไปได้ รวมทั้งยังช่วยปลดล็อคให้กับผู้ประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อย” สุริพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับเป้าหมายการขยายตัวในปีนี้ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีความมุ่งมั่นที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะหากย้อนไปพิจารณาภาวะเศรษฐกิจที่ถูกผลกระทบจากสถาการณ์โควิด 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยหยุดชะงัก การท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศก็ลดลงไปมาก ดังนั้นรายได้จุดนี้จึงหายไปด้วยเช่นเดียวกัน แต่ขณะนี้บริษัทฯ ก็เริ่มมีความร่วมมือกับหน่วยงานใหม่ๆ เช่น การใช้บัตร วีซ่า แตะเพื่อชำระเงินผ่านทางด่วน หรือ การแตะเพื่อจ่ายค่ารถไฟฟ้า MRT และในอนาคตเร็วๆ นี้ จะมีความร่วมมือกับระบบ M-FLOW ระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัจฉริยะ อีกด้วย

[1] การศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2564 ของวีซ่า ซึ่งจัดทำโดย CLEAR ในนามของวีซ่าเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ในแปดประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 6,520 คน รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศไทยจำนวน 1,000 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาท

ธุรกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP