WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
“Net Zero” ปลดล๊อคสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน

28 กุมภาพันธ์ 2565 : ช่วงนี้ธุรกิจยักษ์ของประเทศหลายๆ แห่งต่างพาเหรดกันประกาศเดินหน้ายุทธศาสตร์สำคัญ ในการขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดโลกร้อน ด้วยเป้าหมายสำคัญ คือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการเดินหน้าสู่การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ซึ่งเปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจในระยะยาวของบริษัทนั้นๆ เพราะถ้าบริษัทใดมีความโดดเด่นในการทำ ESG ได้ดี นั่นแปลว่ามีรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน และนี่คือเป้าหมายของหลายบริษัทที่เดินหน้าสู่ ESG ในทุกๆ ด้าน และ “Net Zero” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก็เป็นตัวแปลสำคัญอีกแนวหนึ่งนับจากนี้ไป

 

ทั้งนี้ ด้านนักวิชาการ มองว่า หลังจากที่ประเทศไทยวางเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 และการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ซึ่งไทยได้ประกาศไว้ในการประชุม COP26 ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และต้องอาศัยแรงผลักดันมากกว่าแค่นโยบายของภาครัฐ และผู้เล่นสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายท้าทายนี้คือ “กลุ่มธุรกิจ” ซึ่งมีศักยภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายงานของโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคง

ขณะที่ นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า รอบปีที่ผ่านมาธุรกิจในประเทศไทยมีความตื่นตัวกับกระแส ESG ค่อนข้างมาก แต่ธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการประกาศนโยบายต่อสาธารณะในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ยังมีจำนวนไม่มากนัก พบว่า บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติ ทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีจำนวนน้อยกว่า 20 แห่ง ที่ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

สำหรับบริษัทที่ต้องการมุ่งสู่ Net Zero นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น มีสาขา หรือมีสินค้าขายอยู่ในต่างประเทศ หรืออยู่ในระบบซัพพลายเชนขนาดใหญ่ของโลก รวมถึงมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน บริษัทเหล่านี้มีความพร้อมทั้งในด้านขนาดและบุคลากรค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับบริษัททั่วๆ ไป

“การตั้งเป้าหมาย Net Zero เปรียบเสมือนการวางแผนการเดินทาง ที่ธุรกิจจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่า ESG คืออะไร และ ESG ในมิติไหนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราบ้าง ซึ่งแต่ละประเภทของธุรกิจ ผลกระทบก็จะแตกต่างกันไป และแม้การตั้งเป้าหมายจะไม่มีสูตรตายตัว แต่ต้องพิจารณาดูว่าธุรกิจต้องการจะพัฒนาด้านไหนบ้าง ก่อนที่จะทำการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจทั้งหมด เพื่อดูว่า Carbon footprint ที่ปล่อยออกมามีเท่าไหร่

หลังจากนั้นวางแผนว่า จะลดปริมาณการปล่อยให้น้อยที่สุดได้อย่างไร หรือต้องซื้อคาร์บอนเครดิต หรือจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน เพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือที่เรียกว่า Carbon Neutral ซึ่งกระบวนการความเป็นกลางทางคาร์บอนนี้เอง ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรพัฒนาไปสู่องค์กรที่เป็น Net Zero ในลำดับถัดไป” นายชาญชัย กล่าว

ขณะที่ผู้บริหารมมือหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออกมาเปิดเผยว่า ด้วยความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงและการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม โดยธนาคารมุ่งรักษาสมดุลของการดำเนินธุรกิจทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการเข้ารับการประเมินมาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล

โดยด้านสิ่งแวดล้อมธนาคารได้ประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) พร้อมพัฒนากลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการปรับกระบวนการทำงานของธนาคารให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่กับการสนับสนุนลูกค้า ภาคธุรกิจ และสังคม ให้ตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดการใช้พลังงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง สอดคล้องกับวาระเร่งด่วนของประชาคมโลก

ด้านยุทธศาสตร์ของ ธนาคารฮ่องกงและเซี้ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น (HSBC) ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์การเป็นธนาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ.2593 หรือก่อนหน้านั้น สอดคล้องกับเป้าหมายของสนธิสัญญาปารีส โดยเอชเอสบีซีกรุ๊ปได้ประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวไปเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ ธนาคารฯได้ตั้งเป้าใช้เงินลงทุนจำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนลูกค้าของธนาคารในการเปลี่ยนถ่ายของธุรกิจที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ธนาคารฯยังให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาคการเงินและภาคธุรกิจอื่น ๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่จะก่อให้เกิดภัยพิบัติตามมา โครงการ Climate Solutions Partnership นี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของธนาคาร

สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) คือ แนวคิดในการจัดการเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์เป็นศูนย์ โดยการกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากบรรยากาศโดยกระบวนการกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) ในชั้นบรรยากาศที่มีผลประโยชน์ร่วมกับการใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น การฟื้นฟูธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาระบบนิเวศและการลดลงของชนิดพันธุ์ ได้แก่

1.บลูคาร์บอน (Blue carbon) งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบลูคาร์บอนกำลังเพิ่มขึ้น บลูคาร์บอนเป็นการดูดซับคาร์บอนในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นวิธีการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตัวอย่างเช่น พื้นที่ป่าชายเลน หรือป่าที่มีน้ำท่วมขัง ริมแม่น้ำ สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินลึกหลายเมตร มากกว่าป่าเขตร้อน 2-4 เท่า

2.หญ้าทะเล (Seagrass) สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ที่ราก และเนื้อเยื่อเมื่อพืชตาย คาร์บอนจะอยู่ในโครงสร้างที่ซับซ้อนของหญ้าทะเล และสะสมรวมกันที่ก้นทะเล ทำให้ทุ่งหญ้าทะเลมีบทบาทสำคัญในการ กักเก็บคาร์บอน และทำหน้าที่ลดความเป็นกรดในมหาสมุทร รวมถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในธรรมชาติ

3.พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) สามารถกักเก็บคาร์บอนและสามารถให้ประโยชน์อื่น ๆ แก่ระบบนิเวศ ไปพร้อมกัน คาร์บอนจากปากแม่น้ำหรือพืชจะถูกสะสมไว้หลังกระแสน้ำไหลผ่านและกลายเป็นชั้นตะกอนที่อุดมด้วยอินทรีย์คาร์บอน มีงานวิจัยในประเทศอังกฤษพบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำสามารถกักเก็บคาร์บอนในดินได้ 10,000 ตัน/ปี และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมและช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

4.ป่าพรุ (Peatlands) ป่าพรุที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเก็บคาร์บอนที่ขนาดใหญ่และสามารถดูดซับคาร์บอนได้ดี ในทางกลับกันหากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะเป็นการปล่อยคาร์บอนกลับสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งผลให้มีการสะสมคาร์บอนในบรรยากาศมากขึ้นด้วย 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP