1 พฤศจิกายน 2559 : วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยาชี้ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economics Corridor Development (EEC) หนุนการลงทุนในภาคตะวันออกขยายตัวระยะยาว ช่วง 3-5 ปีข้างหน้าการลงทุนกระจุกตัวใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กับ 4 ธุรกิจต่อเนื่อง หนุนเศรษฐกิจภาคตะวันออกขยายตัวเร่งขึ้นตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลตั้งเป้าผลักดัน Eastern Economic Corridor Development :EEC เพื่อให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ในภาคตะวันออก โดยล่าสุด ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ครอบคลุมพื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา (คาดมีผลบังคับใช้ต้นปี 2560)
นอกจากนี้ การดำเนินงานในด้านอื่นมีความคืบหน้า อาทิ 1) แผนพัฒนาระบบคมนาคมทุกมิติ วงเงินกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดข้อด้อยของไทยด้านต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงประมาณ 14% ของ GDP สูงเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน 2) แผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่ง กนอ. และผู้พัฒนานิคมฯ เอกชน เตรียมพัฒนาพื้นที่รวมกัน 35,000 ไร่ จากที่รัฐประเมินใช้พื้นที่ถึง 70,000 ไร่
และ 3) เตรียมขยายเพดานให้สิทธิประโยชน์การลงทุน อาทิ ยกเว้นภาษีนิติบุคคลจาก 8 ปีเป็น 13 ปี ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ และ 15 ปี ภายใต้ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว
ด้วยศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมหลายรูปแบบ (Multi-modal transport) และสิทธิประโยชน์การลงทุนใหม่ที่มากกว่าชาติอื่นในอาเซียน EEC น่าจะทำให้ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพโดดเด่นในการดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูงและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
อย่างไรก็ตาม คาดว่า การตัดสินใจลงทุนของเอกชนน่าจะเห็นชัดเจนหลังมีการเลือกตั้งในไทย อีกทั้งโอกาสทางธุรกิจอาจไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะหลายธุรกิจที่เป็น “Global Mega Trend” ไทยยังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัยและพัฒนา( R&D) ทั้งการแปรรูปอาหารและเทคโนโลยีเกษตรชีวภาพ การผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือแม้แต่รถยนต์ EV ที่ยังติดเงื่อนไขตลาดขนาดเล็กจนอาจไม่คุ้มค่าลงทุนในขณะนี้ เช่นเดียวกับการดึงเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่ในธุรกิจที่ต้องได้มาตรฐานโลกอย่างการบินและบริการอากาศยานก็อาจไม่ง่ายนัก
ระยะ 3-5 ปีจากนี้ ให้จับตาความเคลื่อนไหวของ 7 ธุรกิจที่จะมีเม็ดเงินสะพัด คาดมีผลให้ Gross Regional Product (GRP) ของภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นราว 1.0% – 1.5% ต่อปี จากอัตราการเติบโตเฉลี่ยตามศักยภาพที่ 5%
3 ธุรกิจ/อุตสาหกรรมเป้าหมาย…เติบโตขึ้น
ธุรกิจโลจิสติกส์ : โอกาสการลงทุนของเอกชนโดดเด่นในกลุ่มคลังสินค้าสมัยใหม่ และ Third Party Logistics Service Provider (3PL) ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนธุรกิจยุคใหม่ในการลดต้นทุนขนส่งเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งจากศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาเชื่อมโยงการค้าโลก หากโครงการทวายในเมียนมาเปิดดำเนินการ และจีนยังเน้น “Look South Policy” จะช่วยส่งเสริมให้ภาคตะวันออกกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าเชื่อมระหว่างฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน จึงหนุนการเติบโตของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งระบบในระยะยาว
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ : คาดว่าเป็นอุตสาหกรรมที่จะขยับลงทุนก่อนกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากไทยมีความพร้อมเป็น “Biodiversity Hotspots” (มีความหลากหลายในการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ อาทิ ข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง) ซึ่งเป็นโอกาสในการลงทุนธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ และยังสอดรับกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยที่ต้องปรับตัวตามกระแส “Bio Economy” โดยขยายธุรกิจสู่ไบโอพลาสติกและเคมีชีวภาพมากขึ้น
ธุรกิจท่องเที่ยว : ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตดีหลังการพัฒนา “ท่าอากาศยานอู่ตะเภา” ที่ช่วยดึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำบินตรงสู่พัทยา (กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่มีสัดส่วนถึง 45% ของตลาดนักท่องเที่ยวในพัทยา) ขณะที่แผนการพัฒนา “ท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด” ให้เป็นเมืองท่ารองรับตลาด Luxury tourist จะช่วยสร้างรายได้ให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้นมากจากเดิมที่เน้นตลาด Budget tourist เป็นหลัก นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะมีผลให้มีการเดินทางเข้าสู่ภาคตะวันออกมากขึ้น ช่วยหนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีรายได้สม่ำเสมอทั้งปี
4 ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง…โตโดดเด่น:
ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ : ได้แรงหนุนจากโครงการพัฒนาเมืองใหม่ เนื่องจากศักยภาพพื้นที่ที่เป็นทั้งแหล่งงาน แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งท่องเที่ยว จึงมีการกระจุกตัวของประชากรสูง โดยเฉพาะใน จ.ชลบุรีและระยอง ขณะที่ จ.ฉะเชิงเทราจะเป็นเมืองรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกในอนาคต จึงคาดว่าจะมีการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นจากที่ชะลอมาหลายปี
ธุรกิจค้าปลีกและพื้นที่ค้าปลีก : คาดจะมีการลงทุนเตรียมรับกับประชากรและนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาก แต่เชื่อว่าการแข่งขันที่ดุเดือดจะทำให้ความเสี่ยงออกจากธุรกิจมีสูงเช่นกัน
นิคมอุตสาหกรรม : EEC จะช่วยหนุนศักยภาพนิคมฯ ในภาคตะวันออกให้โดดเด่นเหนือภาคอื่นและเหนือประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้อัตราขายหรือเช่าที่ดินนิคมฯ เขตอุตสาหกรรม รวมทั้งความต้องการเช่าโรงงานขยายตัวจากที่ซบเซามาไม่ต่ำกว่า 3 ปี
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง : ได้ประโยชน์จากงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงานภาครัฐที่ผู้รับเหมาน่าจะได้ประโยชน์ในทุกกลุ่ม เนื่องจากรัฐบาลมีการแบ่งสัญญาก่อสร้างย่อย ทำให้ผู้รับเหมา SME ในพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงและรับงานตรงได้มากขึ้น
…ในระยะยาว ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพียงปัจจัยเดียวคงไม่เพียงพอที่จะดึงการลงทุนให้อยู่ในไทย แต่ปัจจัยเสถียรภาพการเมือง กฎระเบียบที่ชัดเจนและเอื้อต่อเอกชน การยกระดับมาตรฐานบุคลากร/แรงงานไทย รวมทั้งการวางแผนการใช้ทรัพยากรที่ดี โดยเฉพาะทรัพยากร “น้ำ” ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำจำกัดอย่างภาคตะวันออก น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม เพราะนั่นจะช่วยการันตีว่า ไทยจะสามารถรักษาสถานะการเป็นที่ตั้งของฐานผลิตของโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน