9 กุมภาพันธ์ 2565 : นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (Thai Life Insurance : TLI) เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ของไทยประกันชีวิตมุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืนนั้น แผนการดำเนินงาน (Roadmap) ในช่วงแรก จะเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่มั่นคง (Transforming Tomorrow) ไทยประกันชีวิตจึงได้ปรับกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจทุกด้าน โดยกำหนด Business Purpose เป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล หรือ Life Solutions Provider
ส่วนช่วงที่สอง คือ การก้าวสู่อนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืน (Sustainable Tomorrow) เพื่อพร้อมรับมือกับ Business Landscape ของธุรกิจประกันชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนด ไทยประกันชีวิตจึงดำเนินกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ได้แก่
1. การขับเคลื่อนองค์กรสู่ Data Driven Company – ไทยประกันชีวิตปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อเปลี่ยนสู่การเป็น Life Solutions Provider อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานแบบครบวงจร (End-to-end) จากความได้เปรียบที่บริษัทฯ มี Big Data จากฐานลูกค้าโดยอ้างอิงจากจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับใช้กว่า 4,500,000 กรมธรรม์ นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่จะตอบสนองความต้องการของผู้เอาประกันแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) ในทุกช่วงของชีวิต (Life Stage) ทุกจังหวะชีวิต (Life Event) และทุกการใช้ชีวิต (Lifestyle)
พร้อมกันนี้ ไทยประกันชีวิตมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ โดยการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ผ่านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานแบบครบวงจรด้วยระบบดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดสำหรับการดำเนินงานของบริษัทฯ
2. การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – ไทยประกันชีวิตมีกลยุทธ์ในการรักษาความเป็นผู้นำตลาดด้วยการพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นช่องทางตัวแทนประกันชีวิตที่แข็งแกร่งกว่า 66,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนตัวแทนประกันชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย[1] และเป็นบริษัทประกันชีวิตสัญชาติไทยเพียงแห่งเดียวที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายตัวแทนที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ประกอบด้วย (1) ธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย และธนาคารทิสโก้ ที่มีเครือข่ายสาขารวมกันมากกว่า 740 แห่งทั่วประเทศ[2] (2) ธนาคารและองค์กรของรัฐที่มีเครือข่ายสาขารวมกันมากกว่า 2,900 แห่ง2 (3) บริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อจำนวน 8 แห่ง และบริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคอีกจำนวน 2 แห่งที่มีสาขาและจุดจำหน่ายรวมกันมากกว่า 300 แห่ง2 ซึ่งทำให้ไทยประกันชีวิตมีความยืดหยุ่นทางธุรกิจในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางของพันธมิตรที่หลากหลาย และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ยังมีการขายผลิตภัณฑ์ผ่านทางโทรศัพท์ (Telesales) และขยายสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) โดยเริ่มขายผลิตภัณฑ์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ ตั้งแต่ปลายปี 2564 และภายในปี 2565 - 2566 ไทยประกันชีวิตจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนความคุ้มครองให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เอาประกันแต่ละราย
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมองหาโอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมา ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ เข้าสู่ตลาดประเทศเมียนมาผ่านการลงทุน ใน CB Life Insurance โดยสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ อยู่ที่ร้อยละ 35 ของจำนวนหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมดของ CB Life Insurance
3. การยกระดับประสบการณ์ของผู้เอาประกัน –ไทยประกันชีวิตมุ่งพัฒนาบริการที่มากกว่าการประกันชีวิต ใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างความโดดเด่นในการให้บริการ โดยเป็นบริษัทประกันชีวิตเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการไทยประกันชีวิตฮอตไลน์ ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
การเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เอาประกันในการเข้าถึงข้อมูลกรมธรรม์ ตรวจสอบความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ ชำระค่าเบี้ยประกันภัย และค้นหาชื่อคลินิกและโรงพยาบาลคู่สัญญา ตลอดจนฟังก์ชันอื่น ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ไทยประกันชีวิต ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาสู่การเป็น Interest-based Platform หรือแพลตฟอร์มการรวมกลุ่มของคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และการมอบสิทธิพิเศษด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การพักผ่อน การเดินทาง และบริการต่าง ๆ แก่ผู้เอาประกันผ่าน “ไทยประกันชีวิต Privilege” นอกจากนั้น ยังมีการนำเสนอการให้บริการที่ยกระดับประสบการณ์ของผู้เอาประกันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับความแข็งแกร่งทางการเงิน เมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานรอบระยะเวลา 9 เดือนสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ไทยประกันชีวิตมีรายได้รวม 75,594.67 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.3 และมีกำไรสุทธิที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8,198.70 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 16.7 โดยมีจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับใช้มากกว่า 4,500,000 กรมธรรม์
ทางด้านผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2554 - 2563 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ด้วยกลยุทธ์การจัดการที่สามารถบรรลุผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว โดยไทยประกันชีวิตสามารถรักษาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจแม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีการเตรียมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี
รวมถึงยังมีสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งด้วยอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) อยู่ที่ร้อยละ 343.0 ซึ่งสูงกว่าอัตราที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. จะเข้ามาดูแลคือร้อยละ 120[3] รวมไปถึงยังได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A- (ระดับสากล) และ AAA (tha) (ระดับภายในประเทศ) โดยสถาบัน Fitch Ratings[4] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางการเงิน
เมื่อผนวกกับพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญคือ บริษัท เมจิ ยาซูดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด (MY) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่เก่าแก่และเป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีเครือข่ายทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน อินโดนีเซีย โปแลนด์ และประเทศไทย โดย MY ให้การสนับสนุนไทยประกันชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น การขยายตลาดองค์กรญี่ปุ่น (Japanese Worksite Marketing) การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และความชำนาญต่าง ๆ รวมถึงศักยภาพด้านเทคโนโลยี และการเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มตลาดใหม่ ๆ โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางธุรกิจระดับโลกของ MY
นอกจากนี้ ไทยประกันชีวิตยังมีผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจรและหลากหลาย ทั้งด้านการคุ้มครองชีวิต คุ้มครองสุขภาพ การออม การลงทุน และการวางแผนมรดก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เอาประกันในแบบเฉพาะบุคคล รวมถึงเป็นผู้นำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ไทยประกันชีวิตยังได้สร้างฐานลูกค้ากลุ่มสถาบันและองค์กร ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องสำหรับการขายผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม (Cross-selling)
“จุดแข็งที่แตกต่างและสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ไทยประกันชีวิตเป็นแบรนด์ที่มีความเข้มแข็ง ด้วยจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับใช้กว่า 4,500,000 กรมธรรม์3 ซึ่งสอดคล้องกับ Brand Purpose ของไทยประกันชีวิต ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับความชื่นชอบ (Admired Brand) ได้รับความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ (Trusted Brand) และเป็นแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนในสังคม (Inspire Brand)” นายไชยกล่าว
ทั้งนี้ ไทยประกันชีวิตเตรียมเสริมศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านองค์กรเพื่อรองรับวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน โดยอยู่ระหว่างการขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยมีแผนเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 2,384,318,900 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 20.6 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ ประกอบด้วย
(1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 1,000,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 8.6 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ และ
(2) หุ้นสามัญที่ถือโดยผู้ถือหุ้นเดิมจำนวนไม่เกิน 1,384,318,900 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 11.9 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ นอกจากนี้ ณ วันปิดการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ หากมีผู้จองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากกว่าหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมด อาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกินให้แก่ผู้ลงทุนจำนวนไม่เกิน 322,547,900 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 13.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้
โดยเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ไทยประกันชีวิตจะนำไปลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) และการทำการตลาด รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตร รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน คาดว่าจะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เดือนเมษายน 2565 นี้