28 มกราคม 2565 : นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ประธานในพิธีเปิดตัวหนังสือ “คู่มือประกันวินาศภัยไทย (Thai General Insurance Handbook)” เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ยากต่อการคาดการณ์และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในวงกว้างทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความมั่นคงทางการเงิน การเติบโตและการอยู่รอดของธุรกิจประกันภัยซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญและนับวันจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่กำลังมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประกันภัยยังเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามและส่งผลทำให้ประชาชนหรือธุรกิจต่าง ๆ ไม่สามารถนำระบบประกันภัยมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงเพื่อรับความคุ้มครองทางการเงินยามเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้กำหนดพันธกิจในการสร้างและยกระดับความตระหนักรู้และความเข้าใจในการนำการประกันวินาศภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง
รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกันวินาศภัยเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตของประชาชน สมาคมฯ จึงได้จัดทำคู่มือประกันวินาศภัยไทยขึ้น เพื่อเป็นหนังสือคู่มือที่รวบรวมความรู้ด้านการประกันวินาศภัยที่มีเนื้อหาครบทุกด้านและมีความทันสมัยทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และใช้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า หรือเป็นเอกสารอ้างอิงได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2534 สมาคมฯ ได้เคยมีการจัดทำหนังสือคู่มือวิชาการประกันภัยมาแล้ว และได้มีการปรับปรุงเนื้อหาในหนังสืออีกครั้ง เมื่อปี 2548-2550 ที่ผ่านมา
สำหรับการจัดทำคู่มือประกันวินาศภัยไทย (Thai General Insurance Handbook) ฉบับล่าสุดนี้ เป็นหนึ่งในโครงการของคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและวิชาการประกันภัย ประจำปี 2562-2564 สมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประกันวินาศภัยให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจทั่วไปทั้งในและนอกวงการประกันภัยได้ใช้ศึกษาค้นคว้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงเนื้อหาของคู่มือวิชาการประกันภัยที่ใช้กันมานานให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเสี่ยงประเภทต่างๆ วิธีการบริหารความเสี่ยง
หลักสำคัญของสัญญาประกันภัย ประเภทของการประกันวินาศภัย การดำเนินงานของบริษัทประกันภัยในด้านต่าง ๆ กลุ่มงานที่มีในบริษัทประกันภัย ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยไทย พร้อมยกตัวอย่างประกอบที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี ซึ่งในช่วงที่กำลังจัดทำคู่มือฯ นี้ อยู่ระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้เขียนก็ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาและตัวอย่างที่เกี่ยวข้องเข้าไปเพื่อให้คู่มือมีความทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์มากขึ้นด้วย
นายอานนท์ วังวสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำคู่มือประกันวินาศภัยไทยฉบับนี้สำเร็จสมบูรณ์สมดังตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ผมขอขอบคุณนายธโนดม โลกาพัฒนา ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและวิชาการประกันภัย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานการจัดทำคู่มือประกันวินาศภัยไทย และยังเป็นหนึ่งในผู้เขียนหลักร่วมกับผู้เขียนอื่น ๆ อีก 10 ท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานจริงในแต่ละด้าน และยังเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย บริษัทประเมินวินาศภัย สถาบันประกันภัยไทย และนักวิชาการอิสระ ที่มีประสบการณ์การทำงานในวงการประกันภัยมาอย่างยาวนาน ที่ได้มุ่งมั่น เสียสละ แรงกาย แรงใจร่วมกันสร้างคู่มือประกันวินาศภัยไทยที่ทรงคุณค่า
โดยช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูลในการเขียน เรียบเรียง และจัดทำรูปเล่มนานกว่า 3 ปี มีเนื้อหาทั้งหมด 18 บท รวมทั้งสิ้น 311 หน้า จัดพิมพ์ทั้งหมด 2,000 เล่ม สำหรับมอบให้แก่บริษัทสมาชิก องค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย และห้องสมุดของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เปิดสอนทางด้านประกันภัย นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือฯ ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) เผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจสามารถอ่านและ download ได้ฟรีบนเว็บไซต์สมาคมประกันวินาศภัยไทย (www.tgia.org) เพื่อเป็นการกระจายความรู้ไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งคู่มือประกันวินาศภัยไทยเล่มนี้ถือว่าเป็นคู่มือที่สมบูรณ์และทันสมัยที่สุดเล่มหนึ่งของไทย