31 ตุลาคม 2559 : หากหลายคนยังจำเรื่องธรรมภิบาลของธุรกิจบริษัทที่จดทะเบียน (บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ ก็คงจะไม่ลืมเหตุการณ์ลือลั่นทั้งในโลกโซเชียลและตามสื่อต่างๆสำหรับกรณีอินไซด์เดอร์ในการเข้าซื้อหุ้น MAKRO ของผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของบริษัท ซีพีออล์ ซึ่งในตอนนั้นถือได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ไม่น้อย เพราะการกระทำดังกล่าวดูเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น จนกระทั้งนักลงทุนสถาบันอย่างธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เนื้อเต้นเป็นเจ้าเข้าเลยที่เดียว
ไอ้ที่ว่าเนื้อเต้นเป็นเจ้าเข้าไม่ใช่อะไรมาก เสียดายหุ้นที่ทำกำไรดีอย่าง CPALL ที่ใครมีในพอร์ตอย่างกับเสือนอนกินเลยทีเดียว แต่ทว่าด้วยหลักการลงทุนของธุรกิจบลจ. ชัดเจนอยู่แล้วว่าหลักทรัพย์ทุกตัวที่เลือกเข้ามาอยู่ในกองทุนต้องสะอาดเอี่ยมไม่มีมลทินอะไรติดมาด้วย แล้วการที่บลจ.จะต้องทิ้งหุ้นดีๆ อย่าง CPALL ย่อมเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย
และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ฝั่งกองทุนจึงงัดไม้เด็ดมาสู้เพื่อที่จะพยายามไม่ลดหุ้น CPALL ออกจากพอร์ต โดยการร่อนจมหมายถึงผู้บริหารบริษัท ซีพีออลล์ให้ทำการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อให้องค์กรมีภาพลักษณ์ธรรมภิบาลที่ดีขึ้น กองทุนจะได้ถือหุ้นได้ต่อไปแบบสบายใจ ทาง CPALL ได้ลงโทษเพื่อแสดงความรับผิดชอบแต่ไม่มีการไล่ออกผู้บริหารระดับสูงคนดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไล่เขาออกก็เหมือนตัดมือขวาตัวเองทิ้งไปด้วยนะสิ” แล้วใครจะย่อม
ความซับซ้อนของผลประโยชน์แต่ละฝ่ายก็คลุมเครือมาถึงปัจจุบัน เพราะสุดท้ายก็เงียบหายไปในกลีบเมฆ กองทุนบางกองทุนที่ว่ายึดเรื่องธรรมภิบาลก็ยังคงมีหุ้น CPALLในพอร์ต ฝั่ง CPALLก็ยังคงรักษาผู้บริหารผู้นั้นเท่าชีวิตให้อยู่ในตำแหน่งดังเดิม ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องที่ต่อมา ใครต่อใครต้องการให้เหล่าบจ.ทั้งหลาย มีความโปร่งใส ไม่เอารัดเอาเปรียบ ให้มีธรรมภิบาลในการบริหารงานมากขึ้น เพราะความโลภอาจไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ โดยเฉพาะช่วงที่มีเหตุการณ์แบบนี้เข้ามา ทางสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD รีบมาจัดระเบียบเรื่องของความโปร่งใส ธรรมภิบาล ที่หลายคนคุ้นหุ้นที่เรียกๆกันว่า CG นั้นละ
ความตอนหนึ่งจากทาง IOD เมื่อช่วงเดือนธ.ค.58 โดย ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวไว้ว่า “จากกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับผู้บริหารของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) กรณีเข้าซื้หุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO) โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน ในเดือนเมษายน 2556
ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัท ซีพี ออลล์ เจรจาตกลงจะซื้อหุ้น MAKRO 64.35% จากบริษัท เอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บี.วี. (SHV) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) มีความเห็นว่า คณะกรรมการโดยหน้าที่ควรกำหนดนโยบายป้องกันการใช้ข้อมูลภายในที่ชัดเจน และกำกับดูแลให้ทุกคนในองค์กรถือปฏิบัติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นตัวอย่างว่าคณะกรรมการต้องกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายในเรื่องที่กำหนดไว้อย่างจริงจัง
สำหรับกรณีการประเมิน CG ของบริษัทจดทะเบียนที่จัดทำโดย IOD การประเมินจะใช้ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณชน รวมถึงข่าวเกี่ยวกับบริษัทที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการประกาศผลการประเมินเท่านั้น ซึ่งในปีนี้คือระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2557 ถึง 19 ตุลาคม 2558 ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับการประเมินบริษัทในปี 59” ดร. บัณฑิต กล่าว
ล่าสุด เมื่อสองสามวันก่อน ทางสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เผยผลสำรวจคะแนน CGR ประจำปี 2559 ของบจ.ไทย 601 บริษัท มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 78 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีและสูงกว่าปี 2558 ที่มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของคะแนนเฉลี่ยทุกหมวด นอกจากนี้จากการประเมิน พบว่า บจ. ไทยมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน และการปรับบทบาทและภาวะผู้นำของคณะกรรมการในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามความคาดหวังของนักลงทุน
ทั้งนี้ ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้ให้รายละเอียดข้อมูลดังกล่าวไว้ว่า ในงานสัมมนานำเสนอผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2559 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2016) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า ในปีนี้ บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) มีพัฒนาการทางด้าน CG ที่ดีขึ้น โดยยังคงได้รับคะแนนการประเมินทางด้าน CG ในระดับที่ดี จากการสำรวจ บจ. ทั้งหมด 601 บริษัท มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 78 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าปี 2558 (588 บริษัท) ที่มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 75 เปอร์เซ็นต์
หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายหมวดของผลสำรวจในปี 2559 จะพบว่า ปีนี้ บจ. ได้รับคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกหมวด โดยหมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มี 4 หมวด ได้แก่ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่าง เท่าเทียมกัน การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสและการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 92, 92, 82 และ 74 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่วนหมวดที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 68 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบจำนวนบริษัทตามผลการสำรวจที่ได้รับในแต่ละระดับ ซึ่งมีการประกาศผลตามจำนวนสัญลักษณ์ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ พบว่า มีบริษัทจดทะเบียน 455 บริษัทที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หรือระดับดีขึ้นไป ในจำนวนนี้มีบริษัทที่ได้รับคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปหรือระดับดีเลิศ 80 บริษัท (ร้อยละ 13) มีบริษัทที่ได้รับคะแนน 80-89 เปอร์เซ็นต์ หรือระดับดีมาก 195 บริษัท (ร้อยละ 33) และบริษัทที่ได้รับคะแนน 70-79 เปอร์เซ็นต์ หรือระดับดี 180 บริษัท (ร้อยละ 30)
“ผลสำรวจในปีนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทจดทะเบียนไทยในการพัฒนามาตรฐาน CG อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือเล็ก นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า บริษัทจดทะเบียนไทยเริ่มให้ความสำคัญการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน และการปรับบทบาทและภาวะผู้นำของคณะกรรมการในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ในด้านวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการดูแลเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศล้วนให้ความสำคัญ” ดร. บัณฑิต กล่าว