24 มกราคม 2565 : นอกจากจะฮือฮาเรื่องที่รัฐเตรียมเก็บภาษีขายหุ้นที่เกินมูลค่า 1 ล้านบาทแล้ว การเก็บภาษีคริปโตก็ฮือฮาไม่แพ้กัน… หลังกรมสรรพากรประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีคริปโตฯ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 เป็นต้นไป และล่าสุด ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกมาแจ้งว่า ก.ล.ต. กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ได้มีการประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโต) เพื่อกำหนดแนวทางการคำนวณภาษีตามกฎหมาย ในประเด็นที่มีการหารือเกี่ยวกับความชัดเจน ผ่อนปรน และมองไปในอนาคต
พร้อมเกริ่นอีกว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทุกฝ่าย และจากแบบสอบถามที่สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทำการจัดส่งให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะมีการกำหนดแนวทางการคำนวณภาษีตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับผู้ซื้อขายฯ ได้ภายในสิ้นเดือนม.ค.2565 นี้
ในเมื่อ “ภาษีคริปโต” กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกถกเถียงกันอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอย่าง บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด หรือที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ “FINNOMENA” แสดงความคิดเห็นพร้อมกับรวบรวมทุกประเด็นที่ต้องรู้เกี่ยวกับภาษีคริปโต ตั้งแต่ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวทางการเสียภาษีคริปโต และสรุป Q&A ในหัวข้อต่างๆ เพื่อคลายทุกข้อสงสัยที่คาใจของเหล่านักลงทุน
FINNOMENA ระบุว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ “ภาษีคริปโต” ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ใน พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 นั้นหมายถึง คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล นั่นแปลว่ากำไรที่มาจากสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าเกณฑ์เสียภาษี โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดเก็บภาษีคริปโต คือ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่ได้แก้ไขข้อกฎหมายเพิ่มเติมในมาตรา 40 และมาตรา 50 ดังนี้
มาตรา 40 (4) (ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล มาตรา 40 (4) (ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน มาตรา 50 (ฉ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ มีเงินได้เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ประเภทที่เข้าเกณฑ์เสียภาษี ได้แก่ ส่วนแบ่งกำไรจากการถือครองโทเคนดิจิทัล เช่น ส่วนแบ่งที่ได้รับจากโปรแกรม Ziplock ของ Zipmex Token กำไรจากการขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตโดยตรง (ซึ่งกรณีนี้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%)
ส่วนประเด็นภาษีคริปโตที่หลายคนสงสัย ทำไมโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วยังต่อยื่นเสียภาษีประจำปีอีก? ซึ่งเงินได้ของคริปโตหลังถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ยังไม่ถือเป็นเงินได้ที่มีการเสียภาษีสุดท้าย (Final Tax) จึงยังถูกพิจารณาเหมือนรายได้อื่น ๆ อยู่ ซึ่งต่างจากกรณีของดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่เมื่อถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจะนับเป็น Final Tax เลย
กำไรจากการขายคริปโตคำนวณอย่างไร?
โดยกำไรที่ผู้เสียภาษีต้องยื่นต่อกรมสรรพากรคือ “กำไรรวมทั้งหมด” ในปีนั้น โดยไม่จำเป็นต้องแยกแสดงเป็นรายธุรกรรม แต่ไม่สามารถนำธุรกรรมที่ขาดทุนมาหักลบจากกำไรของธุรกรรมอื่นได้ ซึ่งนี่เป็นมาตรฐานเดียวกับการเสียภาษีเมื่อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์
ต้องมีหลักฐานแนบสำหรับการยื่นภาษีหรือไม่?
ต่อเรื่องดังกล่าว โฆษกฯกรมสรรพากรระบุว่า การยื่นภาษีสามารถกรอกตัวเลขได้เลย โดยไม่ต้องแนบหลักฐานการมีรายได้ แต่แนะนำให้บันทึก statement เผื่อในกรณีที่ถูกตรวจสอบ
การขายคริปโตในต่างประเทศและได้กำไรต้องเสียภาษีในประเทศไทยหรือไม่?
ถ้าปีนั้นอยู่ในประเทศไทยรวมแล้วเกิน 180 วัน และมีการนำกำไรกลับเข้าประเทศภายในปีเดียวกันจะต้องเสียภาษี หากมีกำไรแต่เก็บไว้ในกระดานเทรด (Exchange) ยังไม่ได้ถอนเงินสดออกมา
ต้องเสียภาษีหรือไม่?
ซึ่งเกณฑ์เงินได้ของกรมสรรพากร คือ เกิดรายได้เมื่อไรนับเป็นเงินได้เมื่อนั้น ดังนั้น หากขายคริปโตแล้วได้กำไรแม้จะยังไม่ได้ถอนออกมาก็นับเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
กรณีใดที่ได้กำไรจากการขายคริปโตแล้วไม่ต้องเสียภาษีบ้าง?
ซึ่งมีทั้งหมด 3 กรณี 1.มีรายได้จากการเทรดคริปโตฯ เพียงอย่างเดียวและมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ไม่ต้องยื่นหรือเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้ 2.มีรายได้จากการเทรดคริปโตฯ เพียงอย่างเดียว และมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 210,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน 3.อายุครบ 65 ปี หรือมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และมีกำไรจากการขายคริปโตฯ ตลอดปีไม่เกิน 400,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน
แนวทางการเสียภาษีที่ชัดเจนของกรมสรรพากรจะออกมาเมื่อไร?
ทางโฆษกฯกรมสรรพากรระบุว่า แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนซึ่งจะเป็นมาตรฐานร่วมกันจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ม.ค. 2565