17 มกราคม 2565 : หลายคนคงคุ้นชินกับการประหยัดภาษีผ่านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตหรือกองทุนรวม โดยเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนประหยัดภาษีอย่างกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ซึ่งการลงทุนไม่ว่าจะผ่านประกันหรือกองทุนรวมก็ดี นับว่าเป็นตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีได้ดีมาก แถมยังเป็นตัวช่วยในสร้างความมั่งคงทางการเงินในระยะยาวได้ดีเลยทีเดียว ขณะที่กรมธรรม์ประกันชีวิตยังช่วยลดความเสี่ยงด้านค่ารักษาพยายามฉุกเฉินได้ดีเช่นกัน
แต่ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกถึงวิธีการลงทุนผ่านกองทุนรวมประหยัดภาษีทั้ง กองทุนRMF และกองทุน SSF ให้มีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น สำหรับนักลงทุนมือใหม่และเริ่มเข้าสู่วงการการเสียภาษีเงินได้ตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการออม การลงทุนแบบทยอยสะสม คือตัวช่วยสำคัญในการเพิ่ม โอกาสเพิ่มผลตอบแทนได้ดี และลงทุนได้ตามเป้าหมายไว้ด้วย เพราะการทยอยลงทุนในแต่ละเดือนจะช่วยลดความเสี่ยงของตลาดได้ดีกว่าซื้อครั้งเดียวในช่วงปลายปี
นักลงทุนต้องอย่าลืมว่า ภายในช่วงระยะเวลา1ปี ตลาดมีความผันผวนตลอดเวลา การทยอยลงทุนช่วยลดความเสี่ยงเรื่องนี้ได้ดี ทำให้โอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีย่อมมีสูงกว่าด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากการเลือกกองทุนที่ใช่
ส่วนคำถามยอดฮิตที่ตามมาคือ ระหว่าง SSF กับ RMF จะซื้อกองทุนไหนดี? คำตอบ คือ ต้องดูจากวัตถุประสงค์ในการลงทุน และระยะเวลาในการลงทุน เช่น หากมีเป้าหมายจะลงทุนในระยะเวลาประมาณ 10 ปี แน่นอนว่าตามเงื่อนไขของสรรพากรการลงทุนใน SSF ย่อมดีกว่าแน่นอน เพราะมีระยะเวลาที่ต้องถือครองเพียง 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อ
แต่ถ้าวัตถุประสงค์คือการลงทุนระยะยาวสำหรับการเกษียณแล้วล่ะก็ RMF คือคำตอบที่ใช่สำหรับคุณ เนื่องจากจะขายคืนได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปีปฎิทิน ดังนั้น SSF และ RMF จึงเป็นเครื่องมือในการลงทุนระยะยาวที่ช่วยสร้างวินัยการลงทุนให้เรารอจนถึงเป้าหมายและช่วยเพื่อความมั่นใจในการเตรียมเงินเพื่ออนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ช่วงอายุก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาลงทุนด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่เริ่มลงทุนตอนอายุ 50 ปี การลงทุนใน RMF จะใช้ระยะเวลาลงทุนที่สั้นกว่าการลงทุนใน SSF เพราะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เท่ากับว่าใช้ระยะเวลาในการลงทุนเพียง 5 ปีเท่านั้น ในทางกลับกันหากเลือกลงทุนในกองทุน SSF ตอนอายุ 50 ปี จะต้องถือครองเป็นระยะเวลา 10 ปี ทำให้สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 60 ปี
ดังนั้น ระยะเวลาและช่วงอายุในการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะหากมีความจำเป็นที่ต้องขายคืนหน่วยลงทุนออกมาก่อนครบระยะเวลาการลงทุน จะต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อนมาพร้อมกับค่าปรับอีกด้วย ดังนั้น การวางแผนภาษีด้วย SSF กับRMF ที่ดีควรเริ่มตั้งแต่ต้นปี