14 มกราคม 2565 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ ตนเดินทางมายัง ศาลปกครองกลาง โดยมีกำหนดการนัดไต่สวนในคดีกรณี บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยืนฟ้องตน โดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียน ที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เพื่อขอให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID -19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ถอดคำพูด “ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคปภ.
การมาศาลครั้งนี้มีความตั้งใจ ประการแรก คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของพี่น้องประชาชน หากมีการบอกเลิกเรื่องการประกันภัย ประชาชนกว่า 10 ล้านคน ที่ทำประกันภัยแบบ เจอ จ่าย จบ จะถูกลอยแพ เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ ตนบอกกับทีมงานแล้วว่าไม่แน่ใจว่าจะแพ้ หรือ ชนะ แต่จำเป็นต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ไม่เช่นนั้นพี่น้องประชาชนกว่า 10 ล้านคนหรืออาจจะลามไปถึงผู้เอาประกันภัยรายอื่นๆ ด้วย
ประการที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดบรรทัดฐานของบริษัทประกันภัยในการอ้างเหตุ ในเรื่องความเสี่ยงที่มีมากขึ้นแล้วโยนภาระกลับไปให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะการที่บริษัทประกันภัยจะรับประกันความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ บริษัทจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและต้องมีการคำนวณอย่างชัดเจนแล้ว เพราะสิ่งที่รับประกันไปนั้นคือความเสี่ยงภัยซึ่งทราบอยู่แล้วไม่ว่าจะโควิดจะเปลี่ยนไปอย่างไรโดยจะอ้างว่า ความเสี่ยงเปลี่ยนไปนี่คือไม่ถูกต้อง
ถ้าหากศาลปกครองยอมให้มีการเพิกถอนหรือบอกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 เจอจ่ายจบได้ บรรทัดฐานเรื่องนี้จะขยายผลบริษัทอื่นๆ ที่ทำประกันเจอจ่ายจบก็จะใช้สิ่งนี้เป็นบรรทัดฐานเพื่อบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบ ไม่เพียงแต่เท่านั้นถ้าเหตุนี้สามารถยอมรับได้ อีกหน่อยบริษัทประกันภัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งชีวิตหรือวินาศภัยก็ใช้เหตุเดียวกัน เมื่อมีความเสี่ยงเปลี่ยนไปแล้วบริษัทฯรับภาระมากเกินไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะเป็นเหตุให้บริษัทเหล่านั้นอาศัยเป็นช่องทางในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย
หากย้อนถามกลับไปว่าประชาชนเขาจะทำประกันภัยไปเพื่ออะไร... ระบบประกันภัยจะถูกทำลายความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจำเป็นต้องต่อสู้ ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อประชาชนเท่านั้นแต่ต้องต่อสู้เพื่อไม่ให้เกิดบรรทัดฐานที่ผิดพลาด ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่ความเสี่ยงเปลี่ยนไปแล้วไปรอนสิทธิ์บอกเลิกกรมธรรม์ที่มีความผูกพันธ์กับประชาชน
สิ่งที่เขาควรทำคือยุติการรับประกันรายใหม่ ซึ่งเขาก็ทำแล้วและทำการแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มทุน ซึ่งเป็นมาตรการที่เยียวยาบริษัทเองโดยไม่ไปรอนสิทธิ์ของประชาชน ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่า มีทางเลือกอีกมากมายแต่บริษัทไม่ใช้ แต่บริษัทยืนยันที่จะใช้สิทธิ์บอกเลิกกรมธรรม์ เพราะฉะนั้นผมถือว่าเรื่องนี้เป็นความรุนแรงและนับว่าเป็นการใช้สิทธิ์ที่ไม่สุจริตและขาดธรรมาภิบาล
ประการที่ 3 เราไม่ต้องการให้ธุรกิจประกันภัยที่มีเหตุเกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดนั้น อาศัยเหตุนี้โดยเป็นช่องทางอาศัยศาลฯเป็นเครื่องมือในการช่วยบริษัทฯ สร้างบรรทัดฐานที่มีผลผูกพันต่อระบบประกันภัยของประเทศซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงอย่างมากที่สุด
ตนจะชี้ให้ศาลเห็นว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของคำสั่งนายทะเบียนไม่ชอบ แต่เป็นคำสั่งโดยชอบ ออกโดยคำสั่งตามกฎหมายถูกต้อง และไม่ได้มีผลย้อนหลัง จำเป็นต้องออกไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ซึ่งบริษัทอ้างว่า ต้องการบอกเลิกกรมธรรม์เพื่อประโยชน์สาธารณะและเราได้ชี้แจง เราก็ได้ชี้แจงกับศาลฯว่า แท้จริงแล้ว บริษัทฯขอมีสิทธิ์ในการบอกเลิกกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัทเอง
หลังจากนี้ก็ต้องอยู่ในดุลพินิจของศาลปกครองไม่ว่าคำสั่งจะออกมาอย่างไรเราน้อมรับ แต่เราก็จะใช้สิทธิ์ เช่น ถ้าศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวและมองว่าไม่มีเหตุเพราะจะกระทบต่อพี่น้องประชาชนและจะทำให้การบริหารจัดการและดูแลพี่น้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ขณะนี้นับเป็นสถานการณ์วิกฤติ ที่มีการระบาดของโควิดโอมิครอน เป็นอันตรายต่อเขาทุกคน
เพราะฉะนั้นประชาชนก็เชื่อว่าจะสามารถนำระบบประกันภัยไปช่วยเยียวยาเขา แต่การยกเลิกขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เราควรเคารพในความไว้วางใจของประชาชนไม่ใช่ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ฉะนั้นต้องเอาความจริงมาพูดกันหันหน้ามาเจรจาร่วมกันเป็นสิ่งที่หลายๆ บริษัทฯ ที่มีธรรมาภิบาลเขาทำกัน
หากศาลปกครองสั่งจริงเราก็จะอุธรณ์ เพื่อไปให้ถึงศาลปกครองสูงสุด ถ้าศาลสั่งรับฟ้อง เราก็จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด ถ้าในศาลปกครองกลางเราแพ้ เราก็จะอุธรณ์ แต่แน่นอนที่สุดเราก็จะทำงานคู่ขนานกันไป ในการช่วยเหลือสนับสนุนบริษัทประกันภัยที่เขาต้องการความช่วยเหลือและให้คปภ.มีมาตรการเยียวยาต่อสถานการณ์โควิด ต่อเรื่องนี้มีการประชุมร่วมกันกับ 14 บริษัท รวมถึงบริษัที่ฟ้องคดีด้วย ซึ่งการเป็นผู้กำกับดูแลก็เป็นหมวกด้านหนึ่ง จะต้องมีการแยกแยะ การต่อสู้คดีก็เป็นอีกหมวกหนึ่ง เราก็จะต้องทำอย่างเต็มที่และดีที่สุดในแต่ละบทบาท
ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นช่วงที่ทุกฝ่ายทั้งคปภ.บริษัทและประชาชนต้องร่วมมือกันฝ่าฝัน จะทำอย่างไรให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ เพราะเชื่อว่าวิกฤตโควิดมาแล้วก็ไป แต่ทำอย่างไรที่จะร่วมกันสู้ไม่ใช่มาทะเลาะกันมาฟ้องร้องกัน แต่จะทำอย่างไร เพื่อหามาตรการเยียวยาประชาชน เยียวยาภาคธุรกิจประกันภัยและสำคัญที่สุดจะทำอย่างไรเพื่อกู้ภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัย
สำหรับความคืบหน้าต่อเรื่องดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ศาลปกครองกลางยังไม่มีการชี้ขาดแต่อย่างใด ซึ่งต้องรอฟังคำพิจารณาในวาระถัดไป