6 มกราคม 2565 : จากกรณี สมาคมประกันวินาศภัยไทย มีมติเอกฉันท์ ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของทางสำนักงาน คปภ. ซึ่งมีกรอบระยะเวลาพิจารณา 30 วัน ก่อนที่จะเสนอบอร์ด คปภ. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งทีมงานกฎหมายได้ดูข้อมูลแล้วยืนยันว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้มีการย้อนหลังเป็นโทษต่อบริษัทประกันภัยแต่อย่างใด เพราะแม้จะมีข้อความที่ให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิกโดยต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน
ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะสามารถบอกเลิกได้โดยไปอ้างว่ามีความเสี่ยงเปลี่ยนไป หรือจะขาดทุน แล้วบอกเลิกแบบเหมาเข่ง แทนที่จะเลือกวิธีการอื่นที่ไม่เป็นการรอนสิทธิ เนื่องจากแนวทางเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากโดยผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นฝ่ายผิดการตีความสัญญาสำเร็จรูปโดยส่งผลเป็นโทษแก่ผู้บริโภคย่อมเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่เป็นธรรม จึงไม่สามารถทำได้ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ
นอกจากนี้ ยังขัดต่อหลักการของการประกันภัย โดยที่มีข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานสนับสนุนชัดเจน โดยรายละเอียดขอไม่เปิดเผยในขณะนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อรูปคดี เพราะทราบว่าทางบริษัทกำลังเตรียมฟ้องสำนักงาน คปภ. เพื่อจะขอเพิกถอนคำสั่งนี้ และเรียกค่าเสียหาย ถ้าทำได้สำเร็จก็จะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนหลายล้านคน ซึ่งตนและทีมงานของสำนักงาน คปภ. ขอยืนยันว่าจะขอยืนหยัดและสู้เพื่อหลักการ ความถูกต้องและประโยชน์ของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ต่อผลกระทบจากการระบาดของโอไมครอนต่อภาคธุรกิจประกันวินาศภัย ทางสำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการหารือกันเพื่อหามาตรการอื่นเยียวยา โดยที่จะไม่ให้เป็นการรอนสิทธิของผู้บริโภค ทั้งนี้จะมีการหารือกับฝั่งของผู้บริโภคด้วย เพื่อรับฟังเสียงสะท้อน และเพื่อหาทางออกให้เกิดประโยชน์และไม่ขัดต่อกฎหมาย