WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
“เจอ-จ่าย-จบ” พิษโควิด-19 บทเรียนที่หลาบจำของธุรกิจประกันภัย

4 มกราคม 2564 : นับตั้งแต่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดปี 2563 และยืดเยื้อมาจนถึงกับปัจจุบัน จนมีการกลายพันธุ์ไปหลายตัว การระบาดใหญ่ดังกล่าวได้สร้างบทเรียนมากมายให้กับเรา สำหรับมนุษน์เงินเดือนธรรมดา ทำให้เรียนรู้ว่า “การวางแผนการเงินและการออม” คือสิ่งสำคัญ หากตกงานกระทันหันก็สามารถรับมือได้

ขณะที่ภาคธุรกิจ ทำให้เรียนรู้ว่า การไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป และการพึ่งพิงสิ่งเดียวที่ทำอยู่ ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงได้ มีหลายตัวอย่างที่ธุรกิจน้อยใหญ่ในไทยประสบปัญหาขณะนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่งภายใต้โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจเติบโตจนฉุดไม่อยู่เช่นกัน จากพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการช้อปปิ้งออนไลน์และระบบโลจิสติกส์ที่บูมจนฉุดไม่อยู่เลยที่เดียว

แต่สิ่งที่น่าสนใจและเป็นบทเรียนได้ดีกับการระบาดของโควิดรอบนี้ คือ กรมธรรม์คุ้มครองโควิด-19 ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาอย่างฉับพลันทันด่วน “เจอ-จ่าย-จบ” ของธุรกิจประกันภัย นับว่าเป็นกรมธรรม์เข้ามารองรับสถานการณ์ความรุ่นแรงของเชื้อโรคร้ายนี้ ช่วยผ่องถ่ายความกังวลใจของประชาชนได้อย่างดีในขณะนั้น จนทำให้กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ทุกประเภท ล้วนขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

โดยทางด้านประชาชนเองก็พร้อมควักเงินซื้อความเสี่ยงอย่างไม่รีรอ ทำให้ในปีแรก ดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้สวย มียอดเคลมสินไหมน้อยมาก ธุรกิจประกันพากันกระเป๋าตุงตามๆ กัน แต่หลังจากนั้นปีถัดมา สถานการณ์ก็เปลี่ยนเหมือนพลิกฝ่ามือ..! ด้วยโรคอุบัติใหม่...โควิดสามารถกลายร่างไปตามชาติพันธุ์ แถมกระจายเชื้อได้เร็วไม่ว่าจะเป็นชนิดกลายพันธุ์หรือเชื้อดั้งเดิม

จนกระทั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจประกันภัย  ด้วยยอดเคลมโควิด-19 สูงท่วมท้นกว่า 1,000% กรมธรรม์แบบ "เจอจ่ายจบ" พ่นพิษให้แล้วอย่างจัง...! อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทะลักจนทุบบริษัทประกันบาดเจ็บสาหัส... ทำให้บริษัทประกันขอหยุดการจำหน่ายโควิดทันที โดยเฉพาะแบบ "เจอ จ่าย จบ" ด้วยประเมินแล้วว่าจะต้านแรงของสินไหมทดแทนไม่ไหว

หากย้อนกลับไปดูสัญญาณวิกฤตเคลมประกันโควิดเริ่มตั้งแต่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564 บริษัทประกันหลายแห่งที่เคยขาย กรมธรรม์เจอ-จ่าย-จบ ได้แจ้งลูกค้าหยุดรับประกันใหม่ และบริษัทก็ทำหนังสือถึงลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์เจอ-จ่าย-จบทั้งหมด สุดท้ายก็ยอมแพ้เพราะสำนักงานคปภ. สั่งห้ามยกเลิก ขณะที่ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564

ยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลักหลายหมื่นต่อวัน จนเกิดยอดเคลมทะลัก ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2564 มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสมรวม 11,250 ล้านบาท มียอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนสะสมถึง 9,428 ล้านบาท

ส่งผลให้เริ่มเห็นปัญหาที่บริษัทประกันหลายรายไม่สามารถดำเนินการจ่ายค่าสินไหมให้ลูกค้าได้ตามกำหนด เนื่องจากมียอดเคลมเข้ามาจำนวนมาก กระทั่ง..ผู้ที่สถานะการเงินเงินทุนไม่แข็งแกร่ง ก็ต้องยอมยกธงไป ประเดิมเจ้าแรก โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เซ็นคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตและสั่งปิดกิจการ "บมจ.เอเชียประกันภัย”

ตามมาในช่วงเดือน ธ.ค.2564 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีผลตั้งแต่ 13 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา

สืบเนื่องจาก บริษัทมีฐานะการเงินไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีความสามารถเพิ่มทุน มีหนี้สินเกินทรัพย์สินไม่เพียงพอต่อการจ่ายสินไหมทดแทน สะท้อนว่า บริษัทไม่มีความสามารถ และไม่มีความพร้อมในการรับประกันภัยอีกต่อไป ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน และอุตสาหกรรมประกันภัยในภาพรวม รมว.คลัง จึงมีคำสั่งเห็นชอบให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจแต่หากบริษัทไม่เห็นพ้องกับคำสั่ง สามารถร้องคัดค้านต่อศาลปกครองกลางได้ภายใน 90 วัน

หลังจากนี้ กองทุนประกันวินาศภัยจะเข้ามาดูแลผู้เอาประกันของบริษัท เดอะวัน ประกันภัย ที่ได้รับผลกระทบต่อไป โดยยึดตามแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีสั่งปิดเอเชีย ประกันภัย ปัจจุบันบริษัท เดอะวัน ประกันภัย มีฐานลูกค้าอยู่ราว 1 ล้านราย มีสินไหมประกันโควิดค้างจ่ายราว 2,700 ล้านบาท ขณะที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียน

ทางด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า การประกันภัยโควิด-19 ได้ให้ประสบการณ์ต่อบริษัทประกันว่า การออกกรมธรรม์หรือผลิตภันฑ์ประกันภัยใหม่ๆ นั้น จะต้องคิดวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้าน มีการศึกษาตัวเลขสถิติให้รอบคอบ เพื่อวิเคราะห์และคำนวณ บางครั้งต้องมองโลกแง่ร้ายบ้าง ซึ่งความคุ้มครองโรคระบาดที่ไม่คุ้นเคยก็ไม่สามารถวางใจได้ว่า ปีนี้ดี ปีหน้าคงจะได้กำไรมากกว่า ผมคิดว่าต้องมองสถานการณ์แบบวันต่อวัน เนื่องจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า จะต้องพิจารณา 1. ข้อมูลต้องแน่น 2.ต้องใช้เทคโนโลยีให้ครบวงจร ซึ่งการขายแบบออนไลน์สามารถขายได้อย่างรวดเร็วมาก จากนี้ไปต้องมีหน่วยงานเข้ามาช่วยคิดวิเคราะห์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นบทเรียนให้สำนักงาน คปภ. เพราะเราจะมองว่า การกำกับดูแลแบบปกติบางครั้งใช้ไม่ได้ในทุกกรณี ถึงแม้ว่าการกำกับดูแลจะทำเต็มที่แต่ภายใต้กฎกติกาที่มีอยู่ปัจจุบัน แต่สำหรับโควิด-19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่ อาจจะต้องจำเป็นมีวิธีการกำกับดูแล หรือกฎกติกาที่มีความแตกต่างกัน

"ผมไม่ได้โทษใครแต่เราอาจจะจำเป็นต้องมีการใช้ตรงนี้เป็นบทเรียน และต้องปรับทุกอย่าง อุตสาหกรรมประกันภัยก็ต้องปรับ หน่วยงานกำกับก็ต้องปรับ วิธีการกำกับดูแลก็ต้องปรับ เทคโนโลยีก็ต้องใช้ให้มากขึ้นให้ครบวงจรจึงจะรอดได้ ตนเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเหตุการณ์โควิดจะทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยเข้มแข็งขึ้น และจะทำให้เราเห็นความจำเป็นจริงๆ ว่าการใช้เทคโนโลยีจะใช้แบบฉาบฉวยไม่ได้ ผมเชื่อว่าจะเป็นบทเรียนที่มาแล้วจะผ่านไป แต่ว่าเราจะต้องอยู่กับโควิดให้ได้จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 2565"

"โดยทางคปภ. จะบูรณาการณ์ร่วมกับอุตสาหกรรมประกันภัย ทำให้ธุรกิจประกันภัยอยู่รอดให้ได้ ขอให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ โดยยืนยันว่าจะไม่มีการปิดบริษัทประกันเป็นแห่งที่ 3 เนื่องจากปัจจะบันมีการทดสอบความแข็งแกร่งของบริษัทประกันภัย จากที่เคยมีผู้ติดเชื่อ 10,000-20,000 ราย/วัน ยังควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งบริษัทประกันกัยที่ได้รับผลกระทบนั้นอยู่ในกลุ่มที่คปภ.จับตามองเป็นพิเศษอยู่แล้ว รวมถึงพยายามหาพันธมิตรใหม่มาให้ร่วมลงทุน

โดยขณะนี้ก็ได้รับรายงานว่ามีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งระดับเงินกองทุนก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถึงกระนั้นคปภ.ก็ยังต้องวิเคราะห์สถานการณ์วันต่อวัน แต่ขณะนี้ในภาพรวมของธุรกิจประกันภัยยังแข็งแกร่งอยู่" ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด 

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP