22 ธันวาคม 2564 : EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึง การส่งออกเดือนพฤศจิกายน ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 24.7%YOY ขยายตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญยกเว้นผลิตภัณฑ์ยาง และทุกตลาดสำคัญยกเว้นญี่ปุ่นที่ทรงตัวโดยปรับเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล การส่งออกหักทองคำขยายตัวที่ 5.7%MOM SA จากการฟื้นตัวของการบริโภครวมถึงการผลิตทั่วโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Manufacturing PMI) ยังคงอยู่ในระดับมากกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง
ดร. ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC คาดการณ์การส่งออกในปี 2021 ขยายตัว 16.3%YOY แม้การส่งออกจะฟื้นตัวตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกจากสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลาย แต่ในช่วงสิ้นปีมีปัจจัยกดดันใหม่จากการระบาดที่เริ่มกลับมาในยุโรปและจากการระบาดของสายพันธุ์ Omicron รวมถึงปัญหาคอขวดด้านอุปทานของโลกที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นและกระทบต่อกําลังซื้อภาคประชาชน ส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกอาจปรับชะลอลงได้ในระยะสั้น
การส่งออกไทยในปี 2022 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าโลกแต่ในอัตราที่ชะลอลงหลังเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดย EIC ประเมินส่งออกเติบโตที่ 3.4%YOY ในปี 2022 แต่ยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องจับตา
โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหรือยืดเยื้อจากปัญหาคอขวดอุปทานการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของวิกฤตพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่จะเป็นปัจจัยกดดันผู้ส่งออกในปีหน้า
มูลค่าการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2021 ขยายตัว 24.7%YOY ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 17.4% โดยหากหักทองคำ การส่งออกจะขยายตัวที่ 23.7% ทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021 มูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ 16.4%
ด้านการส่งออกรายสินค้าพบว่า การส่งออกสินค้ายังขยายตัวแบบ %YOY ต่อเนื่องในเกือบทุกสินค้าสำคัญ ยกเว้นผลิตภัณฑ์ยางที่หดตัว
น้ำมันสำเร็จรูปขยายตัวถึง 146%YOY ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ตามความต้องการใช้พลังงานและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง โดยขยายตัวในทุกตลาดสำคัญ เช่น มาเลเซีย (545.1%YOY), สิงคโปร์ (205.4%YOY) และฟิลิปปินส์ (1,749%YOY) เป็นต้น
เคมีภัณฑ์ขยายตัวที่ 63.4%YOY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยในเดือนนี้ขยายตัวในทุกตลาดสำคัญ เช่น จีน (31%YOY), ญี่ปุ่น (67.6%YOY) และอินเดีย (145.5%YOY) เป็นต้น
เม็ดพลาสติกขยายตัว 41.9%YOY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยในเดือนนี้ขยายตัวในทุกตลาดสำคัญ
เช่น จีน (26.5%YOY), อินเดีย (60.5%YOY) และอินโดนีเซีย (38.9%YOY) เป็นต้น
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
รถยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 12%YOY ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน โดยมีตลาดหนุนที่สำคัญ เช่น ฟิลิปปินส์ (26.7%YOY) และอินโดนีเซีย (65.1%YOY) ในขณะที่ออสเตรเลีย (22.4%YOY) เป็นตลาดฉุดที่สำคัญในเดือนก่อนหน้า สำหรับญี่ปุ่น (-38%YOY) และเวียดนาม (-10.1%YOY) เป็นตลาดฉุดที่สำคัญในเดือนนี้
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ขยายตัว 51.9%YOY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยในเดือนนี้ขยายตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น (35.5%YOY), สหรัฐฯ (90.2%YOY) และไต้หวัน (265.5%YOY) เป็นต้น ในขณะที่จีน (-1.5%YOY) และกัมพูชา (-0.3%YOY) หดตัวเล็กน้อย
เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์กลับมาขยายตัวในระดับสูงที่ 19.9%YOY ได้อีกครั้ง หลังจากที่ขยายตัวได้เพียง 1.7%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยมีตลาดหนุนที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ (18.9%YOY), จีน (64.8%YOY) และเนเธอร์แลนด์ (37.8%YOY) เป็นต้น ในขณะที่ฮ่องกง (-8.4%YOY) และเยอรมนี (-12.8%YOY) เป็นตลาดฉุดที่สำคัญ
แผงวงจรไฟฟ้าขยายตัว 26.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ตามความต้องการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก และขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ฮ่องกง (28.2%YOY), สิงคโปร์ (12.1%YOY) และญี่ปุ่น (38.9%YOY) เป็นต้น
ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าตลาดญี่ปุ่นและฮ่องกงพลิกกลับไปหดตัว ในขณะที่ตลาดออสเตรเลียหดตัวต่อเนื่อง ส่วนตลาดอื่น ๆ ยังคงขยายตัว
การส่งออกไปอินเดียยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ 61.1%YOY ซึ่งเป็นการขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง โดยขยายตัวได้ในเกือบทุกสินค้าหลัก เช่น เม็ดพลาสติก (60.5%YOY), เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (37.4%YOY) และเคมีภัณฑ์ (145.5%YOY) เป็นต้น ยกเว้นเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-3.5%YOY) ที่หดตัวเล็กน้อย
การส่งออกไปอาเซียน 5 ขยายตัว 55.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยเป็นการขยายตัวจากเกือบทุกประเทศภายในกลุ่ม ได้แก่ มาเลเซีย (42.6%YOY), อินโดนีเซีย (56.5%YOY), สิงคโปร์ (91.4%YOY) และฟิลิปปินส์ (37.4%YOY) ยกเว้นบรูไน (-4.7%YOY)
การส่งออกไปออสเตรเลียพลิกกลับมาขยายตัวได้ที่ 9.6%YOY หลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 4 เดือน โดยสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัว เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ (22.4%YOY), เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (83.1%YOY) และเม็ดพลาสติก (39.1%YOY) เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยฉุดหลายสินค้า เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (-56.7%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (-13%YOY) เป็นต้น
การส่งออกไปฮ่องกงพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 4.7%YOY หลังจากที่หดตัว -2.5%YOY ในเดือนก่อนหน้าโดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวหลายสินค้า เช่น แผงวงจรไฟฟ้า (28.2%YOY) และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (56.8%YOY) เป็นต้น ในขณะที่มีสินค้าสำคัญหลายประการยังคงหดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-8.4%YOY) และอัญมณีและเครื่องประดับ (-7.4%YOY) เป็นต้น
การส่งออกไปญี่ปุ่นทรงตัวที่ -0.1%YOY หลังจากที่หดตัว -2%YOY ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวเพียงครั้งเดียวในรอบ 12 เดือน โดยรถยนต์และส่วนประกอบ (-38%YOY), ไก่แปรรูป (-5.8%YOY), โทรศัพท์ (-26.3%YOY) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (-7.1%YOY) เป็นปัจจัยฉุดที่สำคัญ ขณะที่เคมีภัณฑ์ (67.6%YOY), แผงวงจรไฟฟ้า (38.9%YOY), เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (35.5%YOY) และเม็ดพลาสติก (49%YOY) เป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ