20 ธันวาคม 2564 : ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีประเด็นฮอตฮิตเท่ากับ กระทรวงการคลังมีแผนจัดเก็บภาษีกรณีนักลงทุนมีการมีคำสั่งขายหุ้น แม้ประเด็นนี้จะไม่ค่อยจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะประเด็นดังกล่าวมีการกล่าวถึงมานานแล้ว แต่ช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ด้านกระทรวงการคลังมีการส่งสัญญาณถี่ขึ้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย ถึงกับกังวลกับผลกระทบที่ตามมา ทั้งเรื่องวอลุ่มเทรดที่มีโอกาสลดลง เรื่องสภาพคล่องในตลาดที่จะหายไป การหันไปลงทุนนอกประเทศมีมากขึ้น ฯลฯ จนหลายคนมีคำถามว่า “ช่วงนี้เหมาะที่จะเก็บภาษีดังกล่าวแล้วหรือ?”
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน มีความกังวลประเด็นดังกล่าว เพราะจะทำให้มีผลต่อการตัดสินใจในการปรับพอร์ตของผู้จัดการกองทุนรวม เพราะการทำ transaction แต่ละครั้งของกองทุนถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนด้วนเช่นกัน ที่นอกเหนือจากต้นทุนอื่นๆแที่มีเรียกเก็บกับผู้ถือหน่วยลงทุน ยังยืนยันว่า ต้นทุนจากการลงทุนที่ลดลงย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า
ขณะที่ผู้จัดการกองทุนเองก็จำเป็นต้องปรับทิศทางการลงทุน เพื่อให้กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีต่อเนื่อง และสอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มเข้ามาด้วย
ส่วนประเด็นที่น่าสนใจ คือ ทางด้านตลาดทุนในระยะสั้นอาจจะมีผลกระทบพอสมควร แต่ในระยะยาวคงต้องมาประเมินกันอีกทีว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจาก การเก็บภาษีหุ้นดังกล่าวจะเก็บจาก transaction(การทำธุรกรรม)ในแต่ละครั้งของนักลงทุน ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่จะมีนักลงทุนรายย่อยค่อนข้างมาก และนักลงทุนในกลุ่มดังกล่าวมักมีการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดค่อนข้างบ่อย ทำให้มีผลต่อต้นทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การจัดเก็บภาษีจะทำให้ต้นทุนของนักลงทุนสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะมีนักลงทุนบางประเภทที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเทรดดิ้ง ทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่ซื้อขายเร็วด้วยการหวังกำไรระยะสั้นคงจะมีผลกระทบ ฉะนั้น จะมีการกระทบต่อวอลุ่มการซื้อขายของตลาดแน่นอน จากปัจจุบันที่ตลาดมีมูลค่าการซื้อขายที่ราว 9 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งยังคงสูงเป็นอับดับ 1 ในภูมิภาคเอเซียน
ดังนั้น อยากให้กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควรพิจารณาการจัดเก็บภาษี ขายหุ้นอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะกระทบกับนักลงทุนเหมาะสม ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษี ตามปริมาณการซื้อขาย หรือ หลักเกณฑ์บางอย่าง จะสามารถลดผลกระทบกับนักลงทุนได้ ด้านอัตราการจัดเก็บ ภาษี ที่จะใช้ มองว่าควรมีความเหมาะสมและเป็นอัตรา ภาษี ที่ยังสามารถให้ตลาดทุนไทยแข่งขันกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคได้
นอกจากนี้ ควรมีระยะเวลาแจ้งนักลงทุนให้ทราบล่วงหน้าอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะให้นักลงทุนปรับตัวได้ทัน รวมไปถึงในอุตสาหกรรมจะต้องมีการวางแผนเรื่องระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษี การเก็บข้อมูล และระบบด้านอื่นๆ ให้ทันเวลา
สำหรับสถานการณ์หุ้นไทยสัปดาห์นี้ (20-24 ธ.ค.) บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,625 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,655 และ 1,665 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (22 ธ.ค.) ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ย.ของไทย สถานการณ์โควิด-19 และทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/64 ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนี PCE/Core PCE Price Indices เดือนพ.ย.
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย.ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของยูโรโซน