WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
เงินดิจิทัลที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝัน

7 ธันวาคม 2564 : Cryptocurrency “สินทรัพย์ดิจิทัล” ช่วงนี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้แล้ว กระแสคริปโตในไทยช่วง2-3 ปีที่มานับว่าอู้ฟู่ไม่เบา หลังจาก “อีลอน มัสก์” ทวิตเพียงไม่กี่ประโยคก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้เหรียญบิตคอยได้พอสมควร และช่วงเดือนต.ค.2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ฟอร์บส์ รายงานว่า มูลค่าของบิตคอยพุ่งสูงขึ้นแตะ 57,740.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 ต.ค 2564 ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค 64 ที่ผ่านมา

โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าพุ่งทะยานนั้น เกิดจากความเป็นไปได้ในการพิจารณาอนุมัติกองทุนบิตคอยน์ อีทีเอฟ ของคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ หรือเอสอีซี บวกกับท่าทีของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่า ไม่ได้มีเจตนาแบนบิตคอยน์ ทำให้มูลค่าบิตคอยน์พุ่งทะยาน ส่งผลให้เหรียญคริปโตในอุตสาหกรรมได้รับความสนใจกันต่อเนื่อง

กระทั่งประเทศจีนเดินเครื่องกวาดล้างคริปโตเคอร์เรนซี่อย่างเข้มข้น ส่งผลสะเทือนต่อตลาดคริปโตอย่างหนักหน่วงก็ตาม แต่สินทรัพย์ดิจิทัลนี้กลับได้รับความสนใจจากนักลงทุนไม่น้อย ส่วนประเทศไทยก็ได้รับความสนใจไม่น้อยเช่นกัน โดยมี Bitkub แพลตฟอร์มเทรดเหรียญคริปโตเป็นผู้บุกเบิกเปิดกระดานเทรดในไทย ทำให้เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่มีสินทรัพย์ลงทุนสูงถึง 50,000ล้านบาท ด้วยความหวือหวาจากการเปลี่ยนโลกสู่ดิจิทัล ทำให้หลายธุรกิจในอุตสาหกรรมไม่สามารถมองข้ามสินทรัพย์ดังกล่าวได้ ต่างมองว่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์นี้ ทั้งเป็นโบรกเกอร์เทรดเหรียญฯเหมือน Bitkub และธุรกิจบจ.(บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย) ในอุตสาหกรรมพาเหรดกันออกเหรียญอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ อย่าง SIRI, ORI, CI, ANAN, S, ASW, MJD, CMC, BA, BCP, JMART, MVP, RS ที่พากันออกเหรียญเพื่อเตรียมไว้รับชำระสินค้าและบริการผ่านคริปโต

สำหรับ Cryptocurrency อย่างที่ทราบกันดีว่า เป็นสิทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่ต้องอาศัยการเข้ารหัส โดยคำว่า "Crypto" หมายถึง การเข้ารหัส ส่วนคำว่า "Currency" หมายถึง สกุลเงิน ทำให้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นเงินดิจิทัลที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นสกุลเงินในอนาคต ที่จะเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน

ความน่าสนใจอยู่ที่กลไกสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์คริปโต จะแปรผันตามราคากลางในตลาด ซึ่งในปัจจุบัน "Cryptocurrency" ยังไม่ถือเป็นเงินตราตามกฎหมาย เนื่องจากไม่มีหน่วยงานสากล หรือรัฐบาลใดเข้ามาควบคุมจัดการ ทำให้บางครั้งคริปโตก็ถูกเรียกว่า "สกุลเงินเสมือน" แบ่งออกเป็นสกุลเงินต่างๆ มากมาย หรือที่เรามักเรียกว่า "เหรียญ" เช่น เหรียญบิตคอยน์ เป็นต้น

ส่วนเงินตราที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย จะต้องถูกกำหนดโดยรัฐเท่านั้น เช่น ธนบัตร และเหรียญกษาปณ์สกุลเงินต่างๆ ของแต่ละประเทศที่เราใช้กันในปัจจุบัน และด้วยการที่เป็น "สกุลเงินเสมือน" ที่ยังไม่ถือเป็นเงินตราตามกฎหมายนี่เอง ความเสี่ยงจึงมีมาก ประกอบกับผู้เล่นในไทยพากันออกเหรียญฯเพื่อใช้ชำระสินค้าและบริการอย่างคึกคัก แน่นอนว่าผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่นิ่งนอนใจ ล่าสุด ออกประกาศชัดว่า ไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ และขอย้ำว่า ธปท. ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย ในระยะต่อไปหากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย

ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสม

ปัจจุบัน ธปท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยงข้างต้น โดยจะยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม

ขณะที่ทางนายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้ก่อตั้ง Bitcast ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า เดิมแบงก์ชาติไม่ได้สนับสนุนการการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระสินค้า และบริการอยู่แล้ว การประกาศนี้จึงไม่ได้เป็นอะไรใหม่ เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมามีความร้อนแรงหลายเรื่องเหมือนกับผสมกันจนสุกงอม แล้วต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะบรรเทาความร้อนแรง เพราะตอนนี้ความร้อนแรงของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตฯ ค่อนข้างร้อนแรงมากตั้งแต่มีดีลใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายดีล ทำให้ได้เห็นวิธีการที่จะนำมาใช้งาน ประจวบกับเรื่องของราคาที่กำลังมีปัญหา

ดังนั้น เมื่อจะนำมาใช้งานก็เห็นแบงก์ชาติประกาศเกี่ยวกับความผันผวนของราคา เมื่อเห็นความผันผวนเกิดขึ้นแบงก์ชาติจึงมีการแตะเบรกเพื่อบรรเทาความร้อนแรง หากย้อนดูเหตุการณ์ที่ผ่านมา มีการจับมีกันระหว่าง exchange กับผู้ประกอบการหลายเจ้า ซึ่งทุกคนก็รู้ข้อเท็จจริงในเรื่องของความต้องของแบงก์ชาติในเรื่องนี้อยู่แล้ว

ส่วนตัวมองว่า เห็นประโยชน์บางอย่างของเทคโนโลยีนี้ เห็นในมุมของ individual ว่าจะมีแง่มุมไหนที่สามารถเอาไปใช้ในเชิงของเศรษฐกิจ หรือในเชิงของธุรกิจที่เอื้อให้กับผู้ประกอบการ เพราะระบบการเงินปัจจุบันมีบางอย่างที่เอื้อต่อผู้ประกอบการ 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP