24 ตุลาคม 2559 : ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนมากพอดู โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์ความโศกเศร้าที่คงปกคลุมไปทั่วแผ่นดินไทย ขณะเดียวกันในฝั่งตลาดทุนไทยก็เกิดความโกลาหลเช่นเดียวกัน หลังจากที่ดัชนีได้มีการปรับตัวลงเกือบ 100 จุด
จนท่านรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ออกอาการกริ้ว! ถึงขั้นประกาศตามหามือป่วนทำให้หุ้นร่วงหนัก ขณะที่มีนักลงทุนอีกฝากฝั่งต่างไม่พอใจ หลังพบว่านักลงทุนสถาบันหรือกองทุน มีการเทขายหุ้นออกจนน่าใจหาย งานนี้ร้อนไปถึงบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ที่ถูกกล่าวหาว่าทุบหุ้น ต้องออกมาชี้แจงกันพันละวัน แต่ที่มีข่าวลือหนาหูจนผู้จัดการกองทุนนั้งไม่ติดเก้าอี้ ว่า คสช.เรียกพบผู้จัดการกองทุนไปปรับทัศนคติ
และเหตุการณ์ข่าวลือดังกล่าวต้องมาสยบลง หลังจาก นางวรวรรณ ธาราภูมิ ผู้จัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง ออกมาให้ข้อมูลจนหลายคนต้องเลิกสนใจกันเลยทีเดียว โดยนางวรวรรณ กล่าวว่า ข่าวที่กระจายในไลน์และที่ผู้สื่อข่าวโทรมาสอบถามว่า คณะ คสช เรียกพวกเรา บลจ / ผู้จัดการกองทุน เข้าพบ เพื่อสอบถามถึงการขายหุ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และอาจมีการปรับทัศนคติการลงทุนต่อจากนี้ให้อยู่ในวิสัยที่ถูกต้องนั้น เป็นข่าวเท็จทั้งสิ้น
และจากคำว่า “ปรับทัศนคติ” นั้น คาดว่าน่าจะเป็นการส่งไลน์ในกลุ่มเล่นหุ้นที่ประสงค์ร้ายต่อรัฐบาลและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ทั้งนี้ พวกเรา บลจ ทั้งหลาย ได้รับคำเชิญจากรองนายกฯ สมคิด ให้เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้า ใครไปได้ก็ไป ใครติดอะไรก็ไม่ต้องไป ซึ่งมี 8 บลจ. ที่ไปได้ ได้แก่ ค่ายกองทุนบัวหลวง กองทุนไทยพาณิชย์ กองทุนกรุงไทย กองทุน MFC กองทุนวรรณ กองทุน CIMBT กองทุนทหารไทย และกองทุนทิสโก้ สำหรับค่ายอื่นๆ ไม่สามารถมาได้ เราก็จะเล่าให้พวกเขารับทราบ
รองฯ สมคิด ไม่ได้จับเราไปเขย่า ไปทุบ หรือเค้นคอสอบถามอะไรเลยเกี่ยวกับการขายหุ้นของสถาบัน แต่ได้เล่าถึงความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจต่างประเทศที่มีต่อไทยเพิ่มขึ้น และเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านภายในประเทศที่จะราบรื่น ส่วนพวกเราก็เล่าถึงมุมมองของเราที่มีต่ออนาคต เล่าถึงคำถามจากผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ ซึ่งไม่มีอะไรในเชิงลบ
ได้เรียนรองนายกฯ ไปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น บาง บลจ ซื้อสุทธิทุกวัน บางแห่งก็ขายสุทธิ แต่พวกเราเห็นกระแสเงินสดไหลเข้ามาซื้อกองทุนรวมหุ้นมากกว่าปกติ โดยเฉพาะใน LTF และ RMF ในทุกวันที่ตลาดกระชากลงแรงๆ
บลจ แห่งหนึ่งที่มาประชุมด้วยนี้ได้บอกว่าของเขาต้องขายสุทธิ เพราะต้องจ่ายเงินให้ผู้เกษียณสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพอดี ส่วนอีก บลจ บอกว่าเขาจำเป็นต้องปรับการซื้อขายตามสภาพตลาดเพราะของเขาเป็น Index Fund
ได้ชี้แจงเพิ่มเติมไปว่าในเชิงจิตวิทยาการลงทุนนั้น ที่ผ่านมามันมี Uncertainty จึงทำให้ผู้เล่นในตลาดที่ไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน มีปฏิกิริยา เพราะเขาไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ค่ายกองทุนบัวหลวง ได้วิเคราะห์ Uncertainty จนเข้าใจ และมั่นใจว่าผลจะออกมาอย่างไร เราจึงไม่หวั่นไหวเลย
ทั้งนี้ ในช่วงที่เป็นข่าวว่ากองทุนทุบหุ้นนั้น กองทุนค่ายบัวหลวงซื้อสุทธิทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.59 ซึ่งสถาบัน Net Sell –7,268 ล้านบาท เพราะลูกค้าซื้อกองทุนเราเข้ามากว่า 2 พันล้านบาท และเราเห็นจังหวะที่ดีในตลาดด้วยที่ราคาหุ้นทรุดต่ำลง เราจึงเพิ่มเงินสดที่มีในพอร์ตเข้าไปซื้อร่วมด้วย สิริรวมแล้วตั้งแต่วันที่ 10 -13 ต.ค.59 ค่ายเราซื้อสุทธิให้กองทุนรวมไปทั้งหมดกว่า 3,800 ล้านบาท นี่ยังไม่ได้รวมที่เราซื้อสุทธิให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะที่สถาบันทั้งหมดในตลาดขายสุทธิ – 2,119 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน
“ในตอนท้ายๆ พี่เรียนถามรองฯ สมคิดไปว่า ได้ฟังนายกฯ ออกทีวีบอกขอความร่วมมือตลาดทุนอย่าตื่นตระหนก อย่าทุบ อย่าช้อน …. แปลว่าท่านไม่ให้เราซื้อหรือเปล่า? รองสมคิดฯ หัวเราะ แล้วตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น หากกองทุนมั่นใจก็ซื้อได้ แล้วแต่จะตัดสินใจกันเอง” นางวรวรรณ กล่าว
สรุปคือ คสช ไม่ได้พบพวกเรา ไม่ได้บีบคอให้ทำนั่นนี่เลยสักนิด อย่าเอาไปลือมั่วๆ ในไลน์ จะโดนจับข้อหาบิดเบือนทำราคาหุ้นได้ มีแต่รองนายกฯ สมคิด ที่แลกเปลี่ยนมุมมองถึงความมั่นใจในประเทศไทยกับพวกเรา และแม้ราชการจะหยุด แต่ตลาดเงิน ตลาดพันธบัตร กับตลาดหุ้นก็ไม่ปิดในวันนี้ ทุกอย่างเป็นปกติ ทั้งนี้ หาก ตลาดฯ และ ก.ล.ต. จะตรวจสอบพวกเรา ก็ขอสนับสนุนเต็มที่ อย่าปล่อยให้สังคมคลุมเครือ
มีผู้จัดการกองทุนหลายประเทศที่ถามเรื่อง Uncertainty เกี่ยวกับองค์รัชทายาท ซึ่งพี่ตอบไปก่อนหน้าแล้วว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งหลายปีแล้ว และไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทุกประการ แต่ที่รัฐบาลไม่ได้ประกาศออกมาก่อน เพราะเป็นประเพณีและจารีตของเรามาแต่เนิ่นนานมาแล้ว อย่าหลงเชื่อการปล่อยข่าวบ่อนทำลายประเทศไทยและสถาบันที่เราเคารพรัก ไม่มีอะไรอย่างที่เป็นข่าวปล่อยเลย รวมทั้งข่าวที่ออกมาจากสำนักข่าวต่างประเทศของพวกท่านด้วย มันเป็นเท็จ
เขาตอบกลับมาทางอีเมล์ว่าเข้าใจแล้ว และขอแสดงความเสียใจเรื่องการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยมาด้วย พร้อมทั้งบอกว่าเรื่องแบบนี้เมื่อ Uncertainty หมดไป ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติไปเอง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขาห่วงมากสำหรับอนาคตสิ่งนั้นคือ เขาเริ่ม “กลัวการเลือกตั้ง” ในไทย เขาบอกว่าถ้ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว บ้านเราจะมีเสถียรภาพแบบทุกวันนี้ไหม!
ด้านนายวิน พรหมแพมย์ ตำแหน่งประธาน เจ้าหน้าที่การลงทุน ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการ กองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวไว้น่าสนใจเช่นกันว่า หลายต่อหลายคนเริ่มจับตามองว่า มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งเทขายหุ้นไทยออกจากมือจนทำให้หุ้นไทยในช่วงนั้นดิ่งเหวสุดๆ และในขณะนั้นเองก็มีกลุ่มนักลงทุนกลุ่มหนึ่งเข้ามาช้อนหุ้นอย่างต่อเนื่อง
หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการกองทุน
ช่วงที่ผ่านมานอกจากเราจะต้องผ่านเหตุการณ์ที่ต้องโศกเศร้าเสียใจมากที่สุดแล้ว เรายังผ่านช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทยผันผวนรุนแรงมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังมีตัวเลขแสดงว่า ‘นักลงทุนสถาบัน’ มีรายการซื้อหรือขายสุทธิจำนวนมาก ทำให้วิชาชีพจัดการกองทุนถูกตำหนิว่ามีพฤติกรรมเหมาะสมหรือไม่
ขอให้ข้อมูลก่อนว่า “นักลงทุนสถาบัน” ไม่ได้มีแค่กองทุนรวมเท่านั้น แต่ยังมี กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. สปส. บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งมีเงินลงทุนรวมกันจำนวนมาก แต่แม้เงินลงทุนจะเยอะ กองทุนส่วนใหญ่เน้นซื้อแล้วถือยาว จึงมี Volume Trade น้อย หลายปีที่ผ่านมา สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันมีเพียง 9-10% เท่านั้น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่ายอดสุทธิจำนวนมากในสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มีผู้ใหญ่คือ คุณบรรยง พงษ์พาณิช กรุณาชี้แนะว่า โดยหลักสากล จะไม่มีใครมาถามกันว่า ใครซื้อ ใครขาย ทุกคนมีหน้าที่และต้องทำตามหน้าที่ ผมจึงขออธิบายหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการกองทุน ดังนี้
1. ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง – ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของเงินตัวจริงต้องการถอนเงินลงทุน เราก็มีหน้าที่ขายหุ้นเพื่อเตรียมเงินสดไว้คืนกับลูกค้า หากไม่ทำตามนี้ (คือเตรียมเงินให้ไม่ทัน) จะเป็นความผิดได้
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลคร่าวๆ ในช่วงที่ผ่านมา “กองทุนรวม” ในภาพรวมไม่ได้มีเงินออก เข้าใจว่ามีเงินเข้าด้วยซ้ำ แปลว่า นักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมไม่ได้ไถ่ถอนหน่วยเพราะความตื่นตระหนก แต่อาจจะมีนักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนผ่าน “กองทุนส่วนบุคคล” ได้ทำการปรับพอร์ต ซึ่งผู้จัดการกองทุนก็ต้องทำตามคำสั่งนั้น ประกอบกับได้รับข้อมูลว่า ในช่วงปลายเดือน ก.ย. – ต้นเดือน ต.ค. มีสมาชิก “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เกษียณจำนวนมาก ก็อาจจะเป็นสาเหตุของการขายได้ นอกจากนี้ มีกองทุนจำนวนมากที่เป็น Passive Fund เมื่อมีเงินเข้าออกเยอะ กองทุนแบบนี้ก็จะมีธุรกรรมซื้อขายเยอะเช่นกัน
2. เลือกและตัดสินใจลงทุนในราคาที่เหมาะสม – ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่เลือกหุ้นจากปัจจัยพื้นฐาน โดยประเมินกำไรและการเติบโตในอนาคต แล้วคาดหมาย “มูลค่าที่เหมาะสม” ในขณะที่ “ราคาตลาด” อาจจะสะท้อนปัจจัยมากมาย ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก และความคาดหวังของผู้คนทั่วไป เมื่อเห็นว่าปัจจัยพื้นฐานยังดีอยู่ แต่ “ราคาตลาด” ต่ำกว่า “มูลค่าที่เหมาะสม” มากๆ ก็มีหน้าที่ต้องตัดสินใจซื้อ
ถ้าสูงกว่า ก็ต้องพิจารณาหาจังหวะขาย หากมีเหตุที่จะทำให้ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ต้องทบทวนและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ผู้จัดการกองทุนจึงไม่มีหน้าที่ “ทุบ” หรือ “พยุง” ตลาดหุ้น ซึ่งก็ย้อนกลับไปข้อ 1. ว่า ผลประโยชน์ลูกค้าต้องมาก่อน
3. ตัดสินใจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ – ผู้จัดการกองทุนต้องไม่ตัดสินใจเพียงเพราะได้รับข่าวลือ และมีข้อห้ามการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลภายใน (Inside Information) ซึ่งทั้ง 2 กรณี นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายกับเงินของลูกค้าแล้ว ยังอาจเข้าข่ายทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ นอกจากนี้ หลายคนยังไม่ทราบว่า กองทุนรวมหุ้นโดยทั่วไปไม่สามารถทำธุรกรรม Short (คือ ยืมหุ้นมาขายในราคาสูงแล้วรอซื้อกลับในราคาต่ำ) จึงไม่สามารถเก็งกำไรในตลาดขาลงได้
“หน้าที่” ย่อมมาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ” เสมอ หากพบว่ากระทำผิด เช่น หาประโยชน์ส่วนตัวโดยใช้ข้อมูลภายใน ก็อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิถูกพัก/เพิกถอนใบอนุญาต ถึงขั้นตกงาน หมดอนาคต เผลอๆ ติดคุกด้วย พวกเราจึงกลัวกันมาก ที่จริงผู้จัดการกองทุนมีสิทธิลงทุนในหุ้นส่วนตัวได้ แต่กระบวนการขออนุมัติและรายงานวุ่นวายมาก ผมและผู้จัดการกองทุนหลายๆ คน จึงไม่ถือหุ้นส่วนตัวเลย เงินออมของผมอยู่ในกองทุนรวมหมด เพื่อป้องกันความผิดพลาดเรื่องการรายงานและป้องกันข้อครหาครับ
มีคนสงสัยว่า เรา “ฮั้ว” กันได้ไหม ก็ขอให้ย้อนไปดูว่า “นักลงทุนสถาบัน” มีความหลากหลายมาก แต่ละกองทุนต้องดูแลผลประโยชน์ของลูกค้าของตน จึงไม่มี “ผลประโยชน์ร่วมกัน” ที่จะต้องมา “ฮั้ว” ครับ (ลองนึกว่าขนาดสมาชิกโอเปคมีผลประโยชน์ร่วมกัน ยังฮั้วไม่สำเร็จ) นอกจากนี้ ธุรกิจกองทุนมีการแข่งขันสูงมาก ทุกคนต้องการเป็นที่ 1 ของตาราง ไม่มีทางที่ทุกคนจะฮั้วเพื่อให้ได้เท่ากัน และหากดูข้อมูล นักลงทุนสถาบันขายสุทธิในวันที่ตลาดหุ้นตกแรง แล้วซื้อสุทธิในวันที่ขึ้นแรง แปลว่า ซื้อแพง-ขายถูก ถ้าฮั้วกันจริง มันคงเป็นการฮั้วที่ไม่ฉลาดเลยครับ