กรุงเทพฯ 21 ตุลาคม 2559 : กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 16.2 พันล้านบาทสำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 20.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ปัจจัยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาจากความสามารถในการเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางแผนไว้ และในไตรมาสนี้การเข้าซื้อกิจการของ HatthaKaksekar Limited (HKL) สถาบันไมโครไฟแนนซ์ชั้นนำในกัมพูชาก็ได้เสร็จสมบูรณ์ด้วย
สำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2559 เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงถึง 7.7% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 100.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 ทั้งนี้ หากไม่รวมสินเชื่อของ HKL เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 6.6% ในเก้าเดือนแรกของปี 2559
สรุปผลประกอบการ (ตามงบการเงินรวม) และฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับไตรมาส 3 ของปี 2559 การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ เพิ่มสูงขึ้น 7.7% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 100.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 และเพิ่มขึ้น 3.4% คิดเป็นจำนวน 45.6 พันล้านบาท จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2559
เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 3.8% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 39.3 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 และเพิ่มขึ้น 2.2% หรือจำนวน 23.4 พันล้านบาท จากสิ้นเดือนมิถุนายน2559 กำไรสุทธิ: เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2559 และ เพิ่มขึ้น 20.1% เทียบกับไตรมาส 3/2558
ทางด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM): อยู่ที่ 3.77% เทียบกับ 3.82% ในไตรมาส 2/2559 จากผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับลดลง ขณะที่ต้นทุนทางการเงินยังคงปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 12.6% เทียบกับไตรมาส 2/2559 ปัจจัยหลักมาจากรายได้ ที่มิใช่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จากหนี้สูญรับคืนและกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ
โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 46.2% ปรับลดลงเล็กน้อยจาก 46.3% ในไตรมาส 2/2559 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ระดับต่ำที่ 2.10% อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 152.3% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง: อยู่ที่ 14.8% เพิ่มขึ้นจาก 13.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ปัจจัยหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของเงินกองทุนชั้นที่ 2 จากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิมูลค่า 10,000 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.40 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ในเก้าเดือนแรกของปี 2559 เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงถึง 7.7% หรือจำนวน 100.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนธันวาคม 2558 ทั้งนี้หากไม่รวมสินเชื่อของ HKL เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 6.6% ในเก้าเดือนแรกของปี 2559 สินเชื่อเพื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น 11.2% นับจากสิ้นเดือนธันวาคม 2558 จากความต้องการสินเชื่อที่ครอบคลุมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้น 5.3% และ 4.6% ตามลำดับ
เงินรับฝากมีจำนวนทั้งสิ้น 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 39.3 พันล้านบาท หรือ 3.8% จากเดือนธันวาคม 2558 การเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากส่วนใหญ่เป็นผลจากเงินรับฝากออมทรัพย์และเงินรับฝากของ HKLหากไม่รวมเงินรับฝากของ HKL เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 2.6% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2558 และเพิ่มขึ้น 1.1% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2559
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในเก้าเดือนแรกของปีอยู่ที่ 3.76% อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 2.10% ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 152.3% สะท้อนความรอบคอบในการบริหารความเสี่ยงและความพยายาม ในการแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ
นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในไตรมาส 3/2559 นอกเหนือจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งแล้ว กรุงศรีสามารถเดินตามยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนที่วางไว้จนเกิดผลสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ HKL ซึ่งส่งผลให้กรุงศรีมีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมในกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์”
นายโกโตะ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจโดยรวมว่า “สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2559 กรุงศรี คาดว่า เศรษฐกิจจะยังคงมีปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจไม่ครอบคลุมในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านฤดูกาลที่ขับเคลื่อนความต้องการสินเชื่อทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจ กรุงศรีจึงปรับเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อของทั้งปี 2559 จาก 5-6% เป็น 8-9% (รวมธุรกิจสินเชื่อของ HKL)”
โดย ล่าสุดวันที่ 30 กันยายน 2559 กรุงศรีมีสินเชื่อรวม 1.40 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.09 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 1.83 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 191.5 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 14.8% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็น เงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.2%