22 พฤศจิกายน 2564 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.68 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.56-32.86 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน
เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินยูโรร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือนหลังออสเตรียประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ขณะที่เยอรมนีอาจจะพิจารณาใช้มาตรการควบคุมโรคเช่นกัน
ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงแสดงความกังวลต่อผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยผู้กำหนดนโยบายบางรายสนับสนุนการเร่งปรับลดขนาดมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ เพื่อปูทางให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นหากการจ้างงานยังคงฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 1,984 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 18,508 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในยุโรป ข้อมูลจีดีพีและค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลในสหรัฐฯ รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน และการตัดสินใจของประธานาธิบดี โจ ไบเดนเกี่ยวกับประธานเฟด โดยสมมติฐานหลักของตลาดคือประธานพาวเวลล์ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะได้ดำรงตำแหน่งต่ออีกหนึ่งสมัย
อย่างไรก็ดี หากเบรนาร์ดซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้ว่าการของเฟดได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ มีความเสี่ยงที่ค่าเงินดอลลาร์จะย่อตัวลงตามการคาดการณ์ที่ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการคาดการณ์ทิศทางเงินเฟ้อในระยะถัดไป ส่วนสภาพคล่องการซื้อขายในตลาดโลกอาจต่ำลงขณะที่สหรัฐฯเข้าสู่เทศกาลขอบคุณพระเจ้าในช่วงท้ายสัปดาห์
สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะเผยแพร่ข้อมูลส่งออกนำเข้าเดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่ายอดการส่งออกและนำเข้ายังคงขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ประเมินเศรษฐกิจในปี 2565 จะเติบโต 3.5-4.5%
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปไกลกว่านั้น ทางด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตมากนักทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิมในภาวะที่บริบทโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะกระแสดิจิทัลและกระแสความยั่งยืน ขณะที่ในระยะยาวหากไทยไม่ยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจจะเหลือเพียง 3% ต่อปี