กรุงเทพฯ, 18 พฤศจิกายน 2564 : “คาร์ ฟอร์ แคช” ผู้นำตลาดสินเชื่อเพื่อคนมีรถ เดินหน้าบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคแก่หน่วยงานและชุมชนที่ประสบเหตุวิกฤตและภัยพิบัติต่างๆ ภายใต้โครงการ “ถุงเติมรอยยิ้ม (Car4Cash Smile Pack)” เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสร้างกำลังใจให้สังคม โดยตลอดปีที่ผ่านมา ได้ส่งมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นผ่านโครงการ “ถุงเติมรอยยิ้ม” ไปแล้วกว่า 2,000 ชุด ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ
นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตต่างๆ มากมาย ทั้งสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อุบัติภัย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ คาร์ ฟอร์ แคช มุ่งมั่นเคียงข้างและเป็นแรงสนับสนุนให้ชุมชนก้าวผ่านทุกวิกฤตไปได้ ภายใต้แนวคิด ‘ทุกอุปสรรคผ่านไปได้ด้วยรอยยิ้ม’ ผ่านโครงการ “ถุงเติมรอยยิ้ม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและให้กำลังใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงาน คาร์ ฟอร์ แคช ได้มีส่วนร่วมในการตอบแทนและสร้างสายสัมพันธ์กับคนในชุมชนเสมือนคนในครอบครัว”
ตลอดทั้งปี 2564 พนักงานอาสาสมัครจาก คาร์ ฟอร์ แคช ได้ส่งมอบถุงบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่
- เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าบนดอยสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
- ผู้ประสบภัยเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมย่านกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ
- ผู้ประสบภัยเหตุเพลิงไหม้ตลาดริมน้ำ 100 ปี จังหวัดสมุทรสาคร
- บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด 5 โรงพยาบาล ได้แก่
- โรงพยาบาลสนาม จังหวัดสมุทรปราการ
- โรงพยาบาลสนามกรุงเทพฯ
- โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
- โรงพยาบาลชลบุรี
- โรงพยาบาลสนามจังหวัดนนทบุรี
ผู้ประสบอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดเพชรบูรณ์
“จากสถานการณ์ที่ยากลำบากตลอดปีที่ผ่านมา พวกเราทุกคนต่างได้รับบทเรียนว่า เหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้นได้ตลอด อย่างไรก็ตาม การแบ่งปันจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราก้าวผ่านทุกอุปสรรคไปได้ เราหวังอย่างยิ่งว่า โครงการ “ถุงเติมรอยยิ้ม” จะช่วยสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ และสานต่อพันธกิจของแบรนด์ในการตอบแทน ช่วยเหลือ และดูแลชุมชนอย่างยั่งยืนได้” นางกฤติยา กล่าวปิดท้าย