19 พฤศจิกายน 2564 : จากสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในปี 2563 มีจำนวน 6,884 คน ในขณะที่ในปี 2564 นับจนถึงวันนี้ มีผู้ติดเชื้อถึง 2,037,241 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 296 เท่าหรือ 29,600% สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2563 นั้นมีจำนวน 61 คน ในขณะที่ผู้เสียชีวิตในปีนี้มีถึง 20,193 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 331 เท่าหรือ 33,100%
ต่อเรื่องดังกล่าว นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า บริษัทประกันภัยที่รับประกันโควิด-19 มีจำนวน 16 บริษัท โดยมีบริษัทที่รับประกันแบบเจอ จ่าย จบ กว่า 10 บริษัท วันนี้ก่อให้เกิดวิกฤตของการจ่ายสินไหมทดแทนอย่างมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โดยล่าสุด ค่าสินไหมทดแทนรวมจากการรับประกันภัย COVID-19 มีจำนวนกว่า 37,000 ล้านบาท หากดูเฉพาะบริษัทที่จ่ายสินไหมแบบ เจอ จ่าย จบ แบ่งเป็นบมจ.อาคเนย์ประกันภัย จ่ายสินไหมทดแทน 7,500 ล้านบาท บมจ.สินมั่นคงประกันภัย จ่ายสินไหม 6,800 ล้านบาท บมจ.วิริยะประกันภัย จ่ายแล้ว 5,700 ล้านบาท บมจ.เดอะวันประกันภัย 4,000 ล้านบาท บมจ.กรุงเทพประกันภัย 3,500 ล้านบาท บมจ.ไทยประกันภัย 1,900 ล้านบาท บมจ.เมืองไทยประกันภัย 1,200-1,300 ล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบันรวมถึงความเป็นไปได้ในการเกิดการระบาดระลอกใหม่ทำให้คาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนสะสม ณ สิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด (ซึ่งอัตรานี้เป็นค่าเฉลี่ยของทุกบริษัท ฉะนั้น อาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก) และอาจเพิ่มสูงถึง 60%-70% ของเงินกองทุน
ในขณะที่เงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยโดยรวมนั้นอยู่ที่ประมาณ 132,000 ล้านบาท หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ประกันภัย COVID-19 อาจเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของแผนการเปิดประเทศได้
นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก COVID-19 เป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่ยากต่อการคาดการณ์ การประกันภัยนั้นถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงของประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐ การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยจึงไม่มีสถิติมารองรับอย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัย ทั้งนี้ หาก Emerging Risk ก่อให้เกิดความเสียหายสูงกว่าความคาดหมายมากเกินระดับที่กำหนดไว้ ในทางกฎเกณฑ์ของการรับประกันภัย บริษัทฯ มีสิทธิ์ในการบอกเลิกกรมธรรม์ได้
อย่างไรก็ดี ตนมีความกังวลว่า แผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมามีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเกินกว่า 63% ของประชากร ในขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีมากกว่า 52% ของประชากร ซึ่งการได้รับวัคซีนแล้วจะส่งผลทำให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตตามปรกติเพิ่มมากขึ้น เพราะโอกาสในการเจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตนั้นจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็จะส่งผลทำให้โอกาสในการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ จากสถิติผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยมีอัตราผู้ติดเชื้อ 2.8% ของประชากร แต่อัตราผู้ติดเชื้อของผู้ที่มีประกันภัย COVID-19 สูงถึง 3.8% ของผู้ถือกรมธรรม์ ซึ่งสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั่วไปถึง 35.7% นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลจากบริษัทซึ่งอยู่ใน TOP 5 ของบริษัทที่รับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบมีอัตราการติดเชื้อสูงถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั้งหมดถึง 46%
ดังนั้น หากการติดเชื้อดังกล่าวของผู้ที่มีประกันภัยโควิด- 19 แพร่ไปยังประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน อาจก่อให้เกิดการระบาดและคลัสเตอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของแผนการเปิดประเทศได้
เสนอแนะคปภ.ให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ได้ตามสิทธิ์
นายอานนท์ ได้ให้ข้อมูลต่อว่า สำหรับการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยจำนวนมากในคราวเดียวกันจะมีสาเหตุมาจากภาพรวม และปัจจัยความเสี่ยง (Risk Profile) ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมักจะเกิดกับเหตุการณ์ที่เป็นมหันตภัยหรือความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risk) โดยเงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนั้น เป็นเงื่อนไขมาตรฐานที่กำหนดอยู่ในกรมธรรม์ทุกประเภททั่วโลกและในประเทศไทยรวมถึงกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ด้วย
ตามหลักการประกันภัยสากลรวมถึงประเทศไทย ผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัยต่างก็มีสิทธิในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย อย่างไรก็ตาม การบอกเลิกโดยผู้เอาประกันภัยนั้น ไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า ในขณะที่การบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัยนั้น จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ผู้เอาประกันภัยทราบอย่างน้อย 15-30 วันตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ.
ซึ่งเงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ.ทุกฉบับ คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัย ในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ได้ให้อำนาจนายทะเบียนในการสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบหรือข้อความที่ได้เคยอนุมัติไปแล้วได้ และในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายทะเบียนได้ใช้อำนาจในการสั่งยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัย
ทั้งนี้ ในคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ได้ระบุ “ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โดยบริษัท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนและกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยก่อนวันที่มีคำสั่งนี้และยังคงมีผลใช้บังคับ"
สมาคมประกันวินาศภัย หารือ กับสำนักงานคปภ.เพื่อบอกเลิกกรมธรรม์โควิด-19
นายอานนท์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากธุรกิจประกันวินาศภัยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบประกันภัยในอนาคตอันใกล้ สมาคมฯ จึงได้มีการหารือกับสำนักงาน คปภ.เพื่อหาทางออกร่วมกันตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิด Outward Risks ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากภาคธุรกิจประกันภัยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด ตามหลักการของ Insurance Core Principle 24 – Macroprudential Supervision
โดยพยายามหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยส่วนใหญ่และเสถียรภาพของระบบประกันภัยเป็นที่ตั้ง ซึ่งหลังจากพิจารณาแนวทางทั้งหมดที่เป็นไปได้แล้ว ได้มีการกำหนดเกณฑ์ร่วมกันหากจำเป็นต้องมีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ ดังนี้
1) มีอัตราความเสียหายจากการรับประกันภัย COVID-19 ตั้งแต่ 400% ขึ้นไป หรือ
2) มีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัย COVID-19 ตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
3) มีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัย COVID-19 เกินกว่าร้อยละ 10 ของเงินกองทุน
สำหรับมาตรการเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ได้มีการพิจารณาร่วมกัน มีดังต่อไปนี้
1) ได้รับเบี้ยประกันภัยคืน 100% จากบริษัทที่ใช้สิทธิบอกเลิก แทนที่จะได้รับเบี้ยคืนตามส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือ
2) เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ฉบับใหม่ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยขั้นสุดท้าย (ภาวะโคม่า) ด้วยทุนประกันภัย 5 เท่าของวงเงินความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่ถูกบอกเลิก หรือ
3) เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกันภัย 10 เท่าของวงเงินความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่ถูกบอกเลิกหรือ
4) นำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนตามข้อ 1) มาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอื่นๆ ของบริษัทที่ใช้สิทธิบอกเลิกโดยจะได้รับส่วนลดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2 เท่าของเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืน การบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงระบบและเสถียรภาพของระบบประกันวินาศภัย
นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้ายว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมีเจตนาดีที่จะนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงของประชาชนและภาครัฐอย่างเต็มความสามารถ โดยได้ร่วมกับสำนักงาน คปภ. พัฒนากรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพและการเงินให้กับประชาชน และช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในเรื่องของการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและการชดเชยรายได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของเงินกองทุนที่มีอยู่ กอร์ปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่ยังคงลากยาวต่อเนื่อง และค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นในระดับที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบประกันภัย และผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยอื่นอีกกว่า 70 ล้านกรมธรรม์ จึงทำให้สมาคมฯ ต้องแจ้งให้บริษัทสมาชิกที่รับประกันภัย COVID-19 แบบเจอ จ่าย จบ ให้วิเคราะห์ผลการรับประกันภัยและทบทวนการบริหารความเสี่ยงและเงินกองทุนของบริษัท เนื่องมาจากภาพรวมและปัจจัยความเสี่ยงที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
โดยขอให้บริษัทสมาชิกประเมินค่าสินไหมทดแทนที่ได้เกิดขึ้นแล้วและที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตโดยเฉพาะกรณีหากมีการระบาดระลอกใหม่ขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนและฐานะการเงินของบริษัทจนทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ เนื่องด้วยภาพรวมและปัจจัยความเสี่ยงสำหรับการรับประกันภัย COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างคาดไม่ถึง หากฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยใดไม่สามารถรองรับความเสี่ยงได้อีกในอนาคต และจำเป็นต้องบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19
ขอเรียนให้ทราบว่า บริษัทประกันภัยเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนาในการเอาเปรียบหรือทอดทิ้งผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด แต่เป็นความจำเป็นและเป็นการบริหารความเสี่ยงที่พึงกระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบกับผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบหากบริษัทที่รับประกันภัย COVID-19 ต้องปิดกิจการเพิ่มอีกในอนาคต
นอกจากนี้แล้ว หากบริษัทประกันภัยต้องปิดกิจการลง ก็จะส่งผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆ ของบริษัทประกันภัยซึ่งไม่มีสิทธิรับเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ ตัวแทน นายหน้า พนักงาน และเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆ ของบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยจึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจดังกล่าวในอนาคตเพื่อจำกัดความเสียหายไม่ให้เกิดในวงกว้าง และรักษาเสถียรภาพของระบบประกันภัยไว้