WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ก.ล.ต. เผยผลการจัดงาน The 1st SEC Thailand International Digital Asset Webinar

9 พฤศจิกายน 2564 : ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ “The 1st SEC Thailand International Digital Asset Webinar” ภายใต้แนวคิด “Policy Implication for Digital Asset Regulation : A Peak at Global Movement” เพื่อเป็นเวทีในการรับฟัง เรียนรู้มุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลจากหน่วยงานกำกับดูแล นักวิชาการ ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 นั้น

มีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (IOSCO Asia-Pacific Regional Committee) หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในกลุ่ม IOSCO ICO Network and FinTech Network หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินในประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้สนใจ ร่วมรับชมผ่านระบบออนไลน์และการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” รวมกว่า 3,000 คน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวในการเปิดงานว่า “ที่ผ่านมาตลาดการเงินทั่วโลกมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) และพัฒนาการเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลต้องพิจารณากรอบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

“แม้ว่าเทคโนโลยีและตลาดทุนจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ก.ล.ต. ยังยึดมั่นภารกิจในการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยเน้นการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงิน การรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดทุน และการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ก.ล.ต. ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน และการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้นจึงได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อภาคธุรกิจในการพัฒนานวัตกรรมและเติบโตได้อย่างยั่งยืน” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

Ms. Hester Peirce กรรมการ ก.ล.ต. สหรัฐฯ (U.S. SEC Commissioner) กล่าวถึงนโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในสหรัฐฯ ว่า การกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความท้าทายและยากกว่าการกำกับดูแลอื่น โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณาความสมดุลระหว่างระดับการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างเหมาะสม และการสนับสนุนนวัตกรรมหรือพัฒนาการใหม่ ๆ ของตลาด ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้มีความชัดเจนและเหมาะสม

ในขณะเดียวกันกฎหมายและกฎเกณฑ์ควรมีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อรองรับพัฒนาการของตลาดในอนาคตด้วย ดังนั้น ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียนรู้และรับฟังผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการสื่อสารและให้ความรู้กับสาธารณชน เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ ขอบเขต และแนวทางของหน่วยงานกำกับดูแลในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และสามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้

“เห็นด้วยกับ เลขาธิการ ก.ล.ต. ว่าปัจจัยสำคัญที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องพิจารณาในการวางกรอบกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล คือ การสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้ลงทุนและการสนับสนุนนวัตกรรมหรือพัฒนาการใหม่ ๆ ของตลาด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีกรอบกติกาที่มีความชัดเจน รวมถึงมีการสื่อสารแนวปฏิบัติต่อผู้ประกอบธุรกิจ พร้อมให้ความรู้กับผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และสามารถเดินไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน” กรรมการ ก.ล.ต. สหรัฐฯ กล่าว

 

ศาสตราจารย์ Douglas Arner อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้มุมมองเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลว่า นับแต่วิกฤตการเงินในปี 2008 จนถึงปัจจุบัน มีการสร้างนวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงการให้บริการทางการเงินในรูปแบบกระจายศูนย์ และสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลอาจมีข้อกังวลในเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน ความเสี่ยงเชิงระบบต่อตลาดการเงิน รวมถึงความไม่เป็นธรรมในตลาดและการเอาเปรียบประชาชน

สำหรับการกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลควรคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและโอกาสจากการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี รวมถึงควรติดตามพัฒนาการของตลาดอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถวางแนวทางการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ในการวางกรอบกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ควรคำนึงถึงลักษณะของการทำธุรกรรม (activity-based approach) เนื่องจากแต่ละกิจกรรมจะมีลักษณะการใช้งานและความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ในเสวนาหัวข้อ “Opportunities, Challenges and Barriers of digital asset businesses” ซึ่งมี Mr. Chia Hock Lai ประธาน (ร่วม) สมาคมบล็อกเชนสิงค์โปร์ (Blockchain Association Singapore) Mr. Ian Taylor ผู้อำนวยการสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสหราชอาณาจักร (CryptoUK) Mr. HaeBoong Lee หัวหน้าศูนย์คุ้มครองผู้ลงทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัล Upbit Korea Dr. Manuel Meyer และ Mr. Christopher Murrer ที่ปรึกษากฎหมาย Baker McKenzie Zurich ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่สำคัญของการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยให้ความเห็นว่า หน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละประเทศมีท่าทีในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่แตกต่างกันออกไป เช่น สิงคโปร์มีการกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซีภายใต้กฎหมายชำระเงิน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ เกาหลีใต้กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลตามกรอบแนวคิดแบบ Risk-Based Approach ซึ่งผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจและปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่อง Virtual Asset และ Virtual Asset Service Provider และอังกฤษจะมีการออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลการโฆษณาสินทรัพย์ดิจิทัล และการใช้งาน stable coin โดยให้ความสำคัญกับการปกป้องผู้ลงทุนจากถูกหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ความเห็นร่วมกันว่า ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ และหน่วยงานกำกับดูแลควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจน เข้าใจง่าย โดยหลักเกณฑ์ควรมีความทัดเทียมกับการกำกับดูแลสินทรัพย์ที่มีลักณะคล้ายคลึงกัน เช่น หากมีลักษณะคล้ายการลงทุนก็ควรกำกับให้เป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น และสามารถคุ้มครองประชาชนทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่ Facebook “สำนักงาน กลต.” โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 คลิกลิงก์ https://fb.watch/8-HB8R2hLW/ และในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 คลิกลิงก์ https://fb.watch/90QeYFYNAq/ รวมทั้งอ่านสรุปการให้สัมภาษณ์สดของ Ms. Peirce การบรรยายของ ศาสตราจารย์ Arner และความเห็นของผู้ร่วมเสวนาได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Documents/Seminars/webinar-nov2021-sum.pdf

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP