5 พฤศจิกายน 2564 : TMBAM Eastspring และ Thanachart Fund Eastspring จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ ปรับพอร์ตหุ้นจีนอย่างไร เมื่อ “มังกร” รุกเกมใหม่ นำทีมโดย นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ Thanachart Fund Eastspring และ TMBAM Eastspring และได้รับเกียรติจาก ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน TMBAM Eastspring และนายพงศ์สรร ยอดเมืองเจริญ ผู้อำนวยการส่วนบริหารผลิตภัณฑ์ TMBAM Eastspring ที่มาร่วมให้มุมมองการลงทุนในตลาดจีนไว้ในงานสัมมนานี้ได้อย่างน่าสนใจ
กลุ่มเทคโนโลยีจีนยังแข็งแกร่ง เชื่อการปฏิรูปประเทศของจีนจะส่งผลดีในระยะยาว
ดร.อาร์ม กล่าวถึง เรื่องการเข้าควบคุมบริษัทเทคโนโลยีในจีนว่ามีนัยยะที่เกี่ยวพันกับความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นมหาอำนาจในโลกปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลจีนต้องมีมาตรการซึ่งได้ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยสาเหตุที่ภาครัฐใช้โอกาสในช่วงที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายนี้เพื่อปฏิรูประบบประเทศเพราะรัฐบาลจีนสามารถจัดการเรื่องโควิดได้ดีทั้งมิติในด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข รักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดีแม้การเติบโตจะชะลอลงไปบ้างซึ่งคาดว่า GDP จะเติบโตอยู่ที่ราวๆร้อยละ 6 ต่อปี
รวมถึงในเดือน พ.ย. ปีหน้า จะมีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อเลือกผู้นำจีนคนใหม่ ทำให้การจัดการเรื่องดังกล่าวมีมิติเรื่องการเมืองเข้ามามีส่วนด้วย ดังนั้น ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าการจัดระเบียบไม่ได้หมายถึงการที่จะไม่พัฒนาเทคโนโลยีไปข้างหน้า ความแข็งแกร่งในกลุ่มเทคโนโลยีในจีนไม่ได้เปลี่ยนไป ยังสามารถพัฒนาได้อย่างแข็งแกร่ง การปฏิรูปจะเป็นผลที่ดีมากในระยะยาว
ดร. อาร์ม ยังให้มุมมองในประเด็นเรื่องการจัดระเบียบอสังหาริมทรัพย์ว่า การจัดการที่เกิดขึ้นจะเป็นการเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะไม่เติบโตหวือหวาเหมือนในอดีต แต่ก็มั่นใจว่าไม่เกิดฟองสบู่แตกจนเกิดเป็นวิกฤตเศรฐกิจอย่างในประเทศอื่นๆที่เคยเกิดขึ้นแน่นอน สำหรับเรื่องวิกฤตพลังงานและพลังงานสะอาด เชื่อว่ามีผลกระทบระยะสั้นโดยจะเบาบางและคลี่คลายได้ในที่สุด การฟื้นจากโควิดทำให้ความต้องการใช้พลังงานสูงกว่าปกติ ประกอบกับฤดูหนาวซึ่งปกติความต้องการใช้พลังงานจะสูงกว่าช่วงอื่น นอกจากนั้นยังเป็นช่วงที่รัฐบาลจีนออกนโยบายลดการใช้ถ่านหิน เป็นต้น
การเติบโตของบริษัทจีนในปี 2565 ยังน่าสนใจ
ทางด้านนายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน TMBAM Eastspring ให้ความเห็นว่า ในรอบปี 2564 มีปัจจัยหลายอย่างที่กดดันการลงทุนในตลาดการเงินและการลงทุนของจีน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงของตลาดหุ้นจีนในระดับกว่าร้อยละ 30 เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งนับตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ปี 2551 เป็นต้นมา การปรับฐานที่ลงลึกแต่ละครั้งจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 30-35 ก่อนจะเริ่มปรับตัวเป็นขาขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าใกล้เคียงปัจจุบันมาก
ประกอบกับภาพในปีหน้า นักวิเคราะห์ยังคงมองการเติบโตของบริษัทในจีนที่น่าสนใจและมีอัตราการเติบโตของกำไรมากกว่าหุ้นโลกและหุ้นในแถบเอเชีย ทำให้เชื่อได้ว่าจังหวะนี้มีความน่าสนใจในการเริ่มทยอยเข้าลงทุนในจีนหลังจากที่ปรับฐาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ลงทุนต้องมีการประเมินพอร์ตลงทุนของตัวเองด้วย หากว่ารับความเสี่ยงได้ไม่สูงมากนัก ควรมีหุ้นจีนในพอร์ตไม่เกิน 5-10% แต่หากสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับกลางไม่ควรมีเกิน 10-15% และหากรับความเสี่ยงได้สูงมาก ทีมกลยุทธ์ก็ยังแนะนำให้มีหุ้นจีนได้ไม่เกิน 15-20% เพื่อไม่ให้เป็นการลงทุนที่กระจุกตัวมากจนเกินไป
นายพงศ์สรร ยอดเมืองเจริญ ผู้อำนวยการส่วนบริหารผลิตภัณฑ์ TMBAM Eastspring กล่าวในระหว่างการสัมมนาช่วงหนึ่งว่า ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ทีมจะมีการปรับกลยุทธ์การลงทุนของ TMB-ES –CHINA-A และ T-ES -CHINA A จากที่เน้นลงทุน UBS China A Opportunity เกือบเต็มจำนวนทั้งหมด จะมีการปรับเหลือสัดส่วนลงทุนประมาณร้อยละ 80-85 โดยอีกร้อยละ 15-20 ทีมผู้จัดการกองทุนเข้าลงทุนใน Eastspring China A Growth Fund เพื่อกระจายการลงทุนให้หลากหลายขึ้น
โดยกองทุนใหม่นี้มีผลตอบแทนที่โดดเด่นโดยเฉพาะในรอบปีสองปีที่ผ่านมา กองทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นจีนที่จดทะเบียนในแผ่นดินใหญ่ที่มีการเติบโตที่ดี โดยผู้จัดการกองทุนจะใช้การวิเคราะห์แบบ Top Down และ Bottom Up ในการคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าลงทุน โดยพอร์ตปัจจุบัน ณ กันยายน 2021 กองทุนนี้จะให้น้ำหนักในกลุ่มเทคโนโลยีร้อยละ 20.5และกลุ่มอุตสาหกรรมร้อยละ15.5ตามลำดับ ถือเป็นการเสริมแรง โดยการแบ่งสัดส่วนการลงทุนใหม่ในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 นี้สามารถทำได้เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน เป็นไปตามนโยบายที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน