3 พฤศจิกายน 2564 : ความต้องการของคนเป็นพ่อแม่ ย่อมอยากให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุดอย่างเช่นการศึกษา การวางแผนให้ลูกเรียนต่อต่างประเทศในสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ยิ่งเป็นโอกาสเปิดโลกกว้างทางการศึกษาให้กับลูกในการพบปะผู้คนหลากหลาย ช่วยสร้าง connection ใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำงาน และเป็นข้อได้เปรียบในการสมัครงาน แต่การเรียนต่อต่างประเทศใช้เงินไม่น้อย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนการเงินอย่างไรเพื่อสามารถส่งลูกไปเรียนต่อยังต่างประเทศได้บ้าง
1.การกำหนดเป้าหมาย
สิ่งแรกเลยคือการกำหนดเป้าหมายว่าอยากให้ลูกได้เรียนต่างประเทศถึงระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท
2. ศึกษาค่าใช้จ่าย
เมื่อมีเป้าหมายแล้วว่าอยากให้ลูกได้เรียนต่างประเทศแบบไหน ขั้นต่อมาจำเป็นต้องหาข้อมูลให้ครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อใช้ประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น ต้องการให้ลูกเรียนต่อมหาวิทยาลัยชื่อดังที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปกติระดับปริญญาตรีจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 3,000,000 บาท ต่อปี ขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่เรียน และยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สำหรับปริญญาโทจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 4,000,000 บาท ต่อปี
3. วางแผนการเงิน
เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ก็จะใช้เป็นเป้าหมายและระยะเวลาในการลงทุน ที่สำคัญต้องคำนึงถึงเงินเฟ้อด้านการศึกษาด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากวันนี้มีลูกอายุ 10 ปี ต้องการวางแผนการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยบราวน์ ค่าใช้จ่ายเพื่อเรียนต่อ ณ วันนี้ อยู่ที่ประมาณ 3,000,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 8 ปี สมมติค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อ 3 % ดังนั้นเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการเรียนจะกลายเป็น 3,800,000 บาท เป็นต้น
ส่วนเงินลงทุนเริ่มต้นก็ขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง และความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนโดยกลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำคือ ASSET ALLOCATION เป็นอีกกลยุทธ์การลงทุนที่พยายามปรับสมดุลระหว่างความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนคาดหวังโดยการปรับสัดส่วนของสินทรัพย์แต่ละประเภทในพอร์ตการลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เป้าหมาย และกรอบเวลาการลงทุนของนักลงทุน
ตัวอย่าง
ปัจจุบันลูกอายุ 10 ปี ต้องการให้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่ต่างประเทศในระดับปริญญาตรี จะต้องเตรียมเงินทั้งสิ้นประมาณ 15,568,000 บาท คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกวางแผนการลงทุนได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละครอบครัว
1.ใช้เงินลงทุนก้อนเดียว เช่น จากค่าใช้จ่ายที่คุณพ่อ คุณแม่ต้องเตรียม 15,658,00 บาท ใช้ระยะเวลาลงทุน 8 ปี โดยมีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง 6% ดังนั้นจะต้องใช้เงินเริ่มต้นประมาณ 9,824,495 บาท
2. ทยอยลงทุนบวกแผนจัดการความเสี่
สำหรับการทยอยลงทุนทางเลือกนี้ อาจจะมีเรื่องความเสี่ยงเพิ่มในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันหากว่าคุณพ่อคุณแม่จากไปก่อนที่ลูกจะจบการศึกษาดังนั้นการการวางแผนจัดการความเสี่ยงด้วยการทำประกันชีวิตเพื่อให้มั่นใจว่าแผนการศึกษาบุตรจะถึงเป้าหมายแน่นอน ด้วยความคุ้มครองชีวิตที่มีทุนประกันเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาลูกทั้งหมด ซึ่งรูปแบบประกันที่แนะนำ ได้แก่
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ข้อดีคือรับผลประโยชน์คงที่แน่นอน และมีจำนวนเบี้ยประกันที่ต้องชำระแน่นอนในแต่ละปี
- ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked)ข้อดีคือสามารถออกแบบความคุ้มครองและการลงทุนตามความต้องการพร้อมเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน
3. วางแผนการเงินด้วยประกันชีวิตอย่างเดียว
สามารถทำได้ด้วยประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการจัดสัดส่วนความคุ้มครองชีวิตและการลงทุน ผู้เอาประกันภัยสามารถวางแผนได้ล่วงหน้าภายใต้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเพื่อให้สามารถถอนเงินจากกรมธรรม์จากการขายคืนหน่วยลงทุนมาใช้เป็นทุนการศึกษาของลูกได้ในอนาคตในขณะที่ผู้เอาประกันภัยยังมีชีวิตอยู่ หรือหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นทายาทก็ยังได้รับความคุ้มครองตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่วางแผนไว้ อย่างไรก็ตามการทำประกันชีวิตนั้นมีข้อผูกพันระยะยาว จึงควรศึกษาทำความเข้าใจรายละเอียดผลประโยชน์และความคุ้มครอง รวมถึงเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันทุกครั้ง
สุดท้ายควรประเมินแผนการลงทุนทุกๆ ปีเพื่อให้แน่ใจว่าแผนการศึกษาของลูกเป็นไปตามแผน และการเริ่มวางแผนการลงทุนตั้งแต่วันนี้ ยิ่งเตรียมเงินลงทุนได้ไว จะยิ่งได้เปรียบ เพราะการลงทุนด้วยเวลาที่นานกว่าจะทำให้เราได้ใช้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนที่มากกว่า นอกจากนี้การวางแผนประกันชีวิตก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การวางแผนการเรียนต่อต่างประเทศของลูกเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้