19 ตุลาคม 2564 : วิจัยกรุงศรี รายงานว่า แม้มีการเปิดประเทศต้นเดือนพฤศจิกายนเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่ต้องกักตัว และผ่อนคลายมาตรการควบคุม แต่คาดว่าระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมภายในสิ้นปีนี้ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการระบาดราว 6% การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม มีข้อสรุปสำคัญ ดังนี้
i) เตรียมพิจารณาแนวทางการเปิดประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เดินทางเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว ไม่จำกัดพื้นที่ หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด
ii) ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม ปรับลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00 น ถึง 3.00 น (เดิม 22.00 น ถึง 4.00 น) และปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (แดงเข้ม) เหลือ 23 จังหวัด (เดิม 29 จังหวัด) ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด (แดง) ล่าสุดมี 30 จังหวัด (เดิม 37 จังหวัด) พื้นที่ควบคุม (ส้ม) 24 จังหวัด (เดิม 11 จังหวัด)
iii) ผ่อนคลายกิจกรรมเพิ่มเติม อาทิ การจัดงาน การประชุม โดยขยายจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามแต่ละระดับพื้นที่
การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มเติมแม้คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการมากขึ้นและช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจลงได้บ้าง แต่อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการปรับขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในช่วงที่เหลือของปีจึงยังจำเป็นต้องทำด้วยความระมัดระวังไปพร้อมกับการเสริมด้วยมาตรการอื่นๆ อาทิ การสื่อสารที่ชัดเจน การสวมหน้ากาก การใช้ระบบติดตามผู้ป่วย และการเร่งฉีดวัคซีน
ในส่วนของมาตรการเปิดประเทศที่จะเริ่มขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เบื้องต้นทางการระบุประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน และสิงคโปร์ เป็นต้น โดยจะเปิดรับเข้าสู่ประเทศแบบไม่ต้องกักตัว ภายใต้เกณฑ์ข้อกำหนดไว้ อาทิ ฉีดวัคซีนครบโดส มีการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางและเมื่อถึงไทย อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือนโยบายของประเทศต้นทางเป็นสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวหลักจากจีนที่นับว่ามีสัดส่วนสูงเกือบ 28% ของภาคท่องเที่ยวไทย ทั้งในด้านจำนวนและการสร้างรายได้แก่ประเทศ ซึ่งปัจจุบันทางการจีนยังคงมีมาตรการคุมเข้มการเดินทางระหว่างประเทศโดยไม่อนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปประกาศเตือนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาไทยเนื่องจากเป็นพื้นที่การระบาดยังมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น มาตรการหรือนโยบายของประเทศต้นทางจึงอาจเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะอันใกล้นี้
วิจัยกรุงศรีประเมินแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มเติม และมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว แต่คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมภายในสิ้นปีนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 อยู่ประมาณ 6% โดยคำนวณจากการใช้ข้อมูลความถี่เร็ว ได้แก่ ความเข้มงวดของมาตรการ (measures of stringency) ความเข้มงวดของมาตรการที่เกิดขึ้นจริง (Implied stringency)
เครื่องชี้เร็วด้านการเดินทาง (Google Mobility Index) และ ความนิยมในการค้นหา (Google search trends) เพื่อสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการคาดการณ์ทิศทางของการค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และกิจกรรมท่องเที่ยว พบว่าภายในสิ้นปีนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีกจะกลับมาอยู่ที่ 94.9% และ 92.3% ของระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ตามลำดับ
ขณะที่กิจกรรมท่องเที่ยวจะอยู่เพียงแค่ 57.9% ของระดับก่อนวิกฤต COVID-19 เท่านั้น และเมื่อคำนวณดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมแล้วพบว่า ณ สิ้นปีนี้ จะมีค่าอยู่ที่ 94.4% ของระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19