WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
กลุ่มอลิอันซ์เปิดรายงาน Allianz Global Wealth Report 2021 : หนี้ครัวเรือนไทยยังสูงอย่างน่ากังวล

14 ตุลาคม 2564 : กลุ่มอลิอันซ์เปิดเผยรายงาน Global Wealth Report ฉบับที่ 12 ซึ่งมีการวิเคราะห์สถานการณ์ของสินทรัพย์และหนี้สินของครัวเรือนในเกือบ 60 ประเทศทั่วโลก

รอดพ้นจากวิกฤต

ปี 2563 เป็นปีที่แห่งความย้อนแย้งที่รุนแรง โควิด-19 ทำลายหลายล้านชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน อีกทั้งเศรษฐกิจโลกยังถดถอยมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะเดียวกันนโยบายการคลังและการเงินได้ระดมทรัพยากรจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ตลาด และประชากร นโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จจากการช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับรายได้ และช่วยให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยให้สถานะทางการเงินของครัวเรือนรอดพ้นจากวิกฤต ดูจากจำนวนสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 9.7% ในปี 2563 ไปแตะ 200 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 7,926 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก

เงินออม เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ทำให้การบริโภคลดลงอย่างมาก ปรากฏการณ์ระดับโลกที่เรียกว่า “การออมภาคบังคับ” จึงเกิดขึ้น เงินออมใหม่เพิ่มขึ้น 78% เป็น 5.2 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 2 พันล้านล้านบาท ในปี 2563 ซึ่งสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ เงินที่ไหลเข้าบัญชีเงินฝาก ทำให้เกิดรายได้ที่ไม่ได้ใช้ในบัญชีธนาคาร เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า (+187%) เงินฝากในธนาคารคิดเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเงินฝากใหม่ในทุกตลาด

นับเป็นครั้งแรกที่เงินฝากในธนาคารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักหรือ 11.9% มากกว่าอัตราการเติบโตสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 8% เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การทางการเงินปี 2551 หลักทรัพย์โตขึ้น 10.9% ซึ่งเป็นอานิสงค์จากตลาดหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่ง เงินประกันและบำเน็จบำนาญโตขึ้นเช่นเดียวกันแต่น้อยกว่า อยู่ที่ระดับ 6.3%

ได้รับภูมิคุ้มกันจากวัคซีน

มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีโลกจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 แม้ว่าช่วงต้นของปีจะแผ่ว รวมถึงยังมีปัญหาต่อเนื่องด้านการค้าโลกและไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ หากแต่ การฉีดวัคซีนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อจีดีพีโลก เนื่องจากจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้งและกลับสู่ภาวะปรกติ (บางส่วน) นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนและการสนับสนุนทางด้านการคลังในระดับสูงยังคงมีอยู่ สำหรับผู้ที่มีเงินออม การปรับฐานในตลาดหุ้นขนาดใหญ่จะช่วยให้ปี 2564 เป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของผู้ที่มีเงินออม โดยการเติบโตรวมของสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกอยู่ที่ 7% โดยเฉลี่ย

“ตัวเลขดูดีมาก” ลูโดวิค เซอร์บราน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอลิอันซ์ กล่าว “แต่เราควรมองให้ลึกกว่านั้น เพราะครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้ออมเงินอย่างจริงจัง แค่กันเงินเอาไว้ เงินที่ไม่ได้เคลื่อนไหวในบัญชีธนาคารเช่นนี้เป็นโอกาสที่น่าเสียดาย ครัวเรือนควรลงทุนเพื่อการเกษียณและการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อช่วยให้สังคมสามารถต่อสู้กับความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งรวมถึงปัญหาทางด้านสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ ผมกลัวว่าในที่สุดครัวเรือนจะเริ่มเอาเงินออกมาใช้และจะลงเอยด้วยการบริโภคอย่างเกินพอดี ซึ่งมีแต่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เราจึงต้องสร้าง ‘วัฒนธรรมการออม’ อย่างเร่งด่วน”

ผลกระทบระยะยาวของโควิด

ในปี 2563 สินทรัพย์ทางด้านการเงินของตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น (+13.9%) อีกครั้ง ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าตลาดในประเทศร่ำรวย (+10.4%) และเป็นรูปแบบของการเติบโตที่เคยเกิดขึ้นหลังจากสามปีที่ผ่านมา ทำให้ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนลดลงเล็กน้อย การขยายตัวของช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนที่เราคาดการณ์ไว้เมื่อปีที่แล้วดูเหมือนจะหยุดลงในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ยังคงเร็วเกินไปที่จะสรุป ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเติบโตอย่างดีจนน่าเหลือเชื่อในปีแรกที่โควิด-19 ระบาด ประเทศที่ยากจนกว่าอาจได้รับผลกระทบระยะยาวจากการฉีดวัคซีนที่ยังไม่เพียงพอ และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว

“โรคระบาดเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าสำหรับประเทศยากจน” มิคาเอล กริม ผู้เขียนร่วมของรายงานฉบับนี้กล่าว “เป็นไปได้มากทีเดียวที่โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้ยาวนานกว่าประเทศร่ำรวย แต่ความท้าทายที่แท้จริงที่จะเกิดตามมาก็คือ โลกหลังโควิด-19 ที่ยากสำหรับประเทศเหล่านี้ในการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของตัวเอง เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรด้านเทคโนโลยี การเมือง และวิถีชีวิต เราจะไม่สามารถละเลยความสำคัญของการลดช่องว่างด้านความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้อีกต่อไป”

เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เติบโตอย่างรวดเร็ว มีสินทรัพย์ทางการเงินสูงขึ้น 12.7% โดยเฉลี่ย แต่ในประเทศไทย สินทรัพย์ของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 7.5%

แม้จะมีวิกฤตโควิด-19 จำนวนสินทรัพย์รวมของครัวเรือนในเอเขียเพิ่มขึ้นถึง 12.7% ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง (9.8%) ในปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ทุกกลุ่มที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นนี้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลัก ได้แก่ เงินฝากธนาคารโต 12.3% หลักทรัพย์ 13.9% ประกันและบำเน็จบำนาญ 11.4% ในประเทศไทยที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก อัตราการเติบโตของสินทรัพย์ทางการเงินยังคงอยู่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 7.5%

โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ การเพิ่มขึ้นของเงินฝาก 10.2% ซึ่งเท่ากับประมาณ 50% ของสินทรัพย์ครัวเรือน หลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 4.7% ในขณะที่ประกันชีวิตและบำเน็จบำนาญเพิ่มขึ้น 4.5% การเติบโตของหนี้สินลดลงมาอยู่ที่ 4.1% ทำให้สินทรัพย์ทางการเงินสุทธิเพิ่มขึ้น 12.4%

อย่างไรก็ตาม การลดลงของจีดีพีทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์เป็น 89.4% โดยเฉพาะประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราหนี้สินต่อจีดีพีสูงที่สุดในเอเชีย จำนวนหนี้ที่สูงเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากหนี้สินรวมสูงถึง 5,490 ยูโรต่อคนซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนรวมของสินทรัพย์โดยเฉลี่ยต่อคน

หลังจากหักลบหนี้สิน จำนวนสินทรัพย์สุทธิต่อคนอยู่ที่ 4,230 ยูโร หรือประมาณ 167,634 บาท ซึ่งน้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสินทรัพย์เฉลี่ยต่อคนในประเทศจีน หรือเท่ากับ 3% ของสินทรัพย์ของคนโดยทั่วไปในสิงคโปร์ จำนวนสินทรัพย์สุทธิต่อคนในไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ในเอเชียและอันดับที่ 44 ทั่วโลก

20 อันดับแรกในปี 2563 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP