5 ตุลาคม 2564 : นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL กล่าวว่า วันนี้ MTL ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ ZA Tech Global Limited (ZA Tech) บริษัทร่วมทุนด้านเทคโนโลยีชั้นนำในเอเชีย ก่อตั้งโดย ZA International และได้รับการสนับสนุนจาก Softbank Vision Fund 1 เพื่อร่วมสร้างประสบการณ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับวงการประกันชีวิต ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันได้ง่ายขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น สอดรับกับโลกยุคใหม่และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป
“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นการผสานความแข็งแกร่งครั้งสำคัญ ด้วยเมืองไทยประกันชีวิตที่มีความแข็งแกร่งในด้านนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประกอบกับความสามารถของ ZA Tech ที่แข็งแกร่งในด้านเทคโนโลยีประกัน (Insurtech) นั้น จะทำให้การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สามารถดำเนินการไปอย่างราบรื่นไร้รอยต่อและสร้างประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจง (Personalized) ให้กับลูกค้าและพันธมิตรต่าง ๆ ใน Ecosystem ได้อย่างครอบคลุม
"ในโลกใหม่ที่เราเห็นว่ามีอาชีพรอง การทำงานอิสระ ที่เขาไม่ได้มีระยะเวลาทำงานเยอะ นับว่าเป็นตลาดที่กว้างมาก ดังนั้นการเข้าถึงเรื่องราคาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นถ้าหากบริษัทฯ รังสรรค์แบบประกันที่มีขนาดย่อมเยาว์ เพื่อให้คนที่ไม่มีเวลาเยอะสามารถเข้าถึงได้ง่าย ก็จะเป็นการดี เนื่องจากทุกวันนี้เทคโนโลยีแทบจะเข้าไปมีความสำคัญทุกกลุ่มอายุแล้ว ดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างตัวแทนและลูกค้า หรือฝ่ายให้บริการ ให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น " นายสาระ กล่าว
ดร. สุธี โมกขะเวส กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ถูกพัฒนาขึ้นมาออกจำหน่ายในช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบกับวิกฤติโควิดพอดี ในขณะที่คนไทยกำลังรอฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอยู่ เมืองไทยประกันชีวิตเข้าใจถึงความกังวลของลูกค้าที่อยากจะสบายใจเมื่อได้รับวัคซีน ดังนั้นเมืองไทยประกันชีวิต และ ZA Tech จึงร่วมกันออกแบบขั้นตอนการขายประกันวัคซีนโควิดที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงการซื้อได้ง่าย และออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้ความยืดหยุ่นกับลูกค้าในการเลือกความคุ้มครองจากผลข้างเคียงของวัคซีน ได้ด้วยตนเอง”
“ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ยังถูกออกแบบมาให้เหมาะกับงบประมาณของลูกค้าที่อาจมีความ แตกต่างกันในด้านกำลังซื้อ เพราะคำว่า ยืดหยุ่น หมายรวมถึงทั้งความยืดหยุ่นในด้านความคุ้มครอง ในราคาที่จ่ายได้และเป็นราคาที่ลูกค้าทุกกลุ่มในตลาดเข้าถึงได้ด้วย” นายสุธี กล่าวเสริม
นายบิล ซง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZA Tech (Mr. Bill Song CEO of ZA Tech) กล่าวว่า “วิกฤติโรคระบาดได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนกระตุ้นให้ลูกค้ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันที่ซื้อได้ทางออนไลน์ และ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้โอกาสลูกค้าเลือกแพคเกจที่ตรงกับความต้องการเฉพาะของแต่ละคนได้เอง และ ซื้อได้เรียลไทม์อีกด้วย
ด้วยความตั้งใจของ ZA Tech ที่จะเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีให้กับบริษัทประกันและบริษัทอินเทอร์เน็ต เรามีวิสัยทัศน์ที่เหมือนกับเมืองไทยประกันชีวิตในการที่จะนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ประกันภัย ที่มีความหลากหลายกว้างขึ้นให้กับลูกค้าคนไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะแปลงเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของเรา ความสำเร็จในการออกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมา และประสบการณ์ในการทำตลาดที่เราสั่งสมมานั้น ให้ออกมาเป็นประสบการณ์การซื้อผลิตภัณฑ์ประกันที่ดียิ่งขึ้นไปสำหรับคนไทย
ด้วยเทคโนโลยี SaaS-based solution – Nano ของ ZA Tech ช่วยทำให้วงจรการออกผลิตภัณฑ์ประกันที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ นั้น สั้นลงง่ายขึ้น ทำให้เมืองไทยประกันชีวิตสามารถที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบความต้องการของลูกค้าที่ไม่หยุดนิ่งได้อย่างรวดเร็ว”
นายบิล กล่าวต่อไปว่า “ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประกันดิจิทัล (Digital Insurance) ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและยังมีโอกาสอีกมากมายในภูมิภาคนี้ที่ยังไม่มีผู้เล่นเข้าไปปลดล็อค ให้ประกันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกค้าได้อย่างแท้จริง ดังนั้น การรวมพลังของสองผู้เล่นรายใหญ่ในครั้งนี้เราหวังว่าจะได้เห็นอนาคตอันน่าตื่นเต้นของวงการประกันในประเทศไทยอย่างแน่นอน”
"ตัวอย่างเช่น แกร๊ป ที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาผลิตกรมธรรม์ไปกว่า 200 ล้านกรมธรรม์ เพราะสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายในด้านของราคา ดังนั้นจึงได้รับการตอบรับดีมาก เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดอายุของผู้ซื้อมีตั้งแต่อายุ 18-60 ปี นั่นแสดงให้รู้ว่า พวกเราอยู่ในยุคดิจิทัลจริงๆ เหมือนกับทำให้แบบประกันเข้าถึงได้ง่าย ไม่ซับซ้อน จึงทำให้คนทุกกลุ่มทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ง่าย ฉะนั้น โอกาสที่มองเห็นในเมืองไทยประกันชีวิต สามารถทำได้เลยคือ การจัดทำเฉพาะคนใดคนหนึ่ง (Tailor Made) ตามความต้องการที่สามารถเข้าถึงง่ายทั้งทางช่องทางและราคาได้เช่นเดียวกัน" นายบิล ซง กล่าวเสริม
นายสาระ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกันดิจิทัลในประเทศไทย ยังมีเบี้ยประกันไม่มากนัก แต่เมื่อพิจารณาถึงจำนวนกรมธรรม์กลับเริ่มมีเข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับไปเมื่อปีที่ผ่านมากฎหมายเรื่องการขายประกันแบบ เฟสทูเฟส สามารถทำให้ช่องทางจำหน่ายผ่านเทคโนโลยี ด้วยวีดีโอคอลล์ (Video Call) และรับกรมธรรม์ผ่าน e-Application, e-Policy ดังนั้นช่องทางจำหน่ายแบบนี้อย่างไรก็ต้องทำ เนื่องจากยังมีอีกหลายส่วนของความต้องการที่ประกันยังเข้าไปไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ หรือเบี้ยประกันที่ยังไม่ตอบโจทย์
ดังนั้น ประกันดิจิทัล (Digital Insurance) ในอนาคตจะเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ และผมมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีภายใต้พื้นฐานของการทำการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) จะทำให้บริษัทประกันที่มีความพร้อมสามารถขายผ่านช่องทางดิจิทัลได้ โดยขนาดของแบบประกันที่ง่ายต่อการเข้าถึง และง่ายต่อการซื้อ ถึงแม้เริ่มต้นจะมีไซด์ขนาดเล็กแต่คาดว่าในอนาคตขนาดของแบบประกันจะใหญ่ขึ้นในอนาคตและแบบประกันขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น ทางด้านประกันชีวิตก็ต้องออกแบบประกันให้ไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ย โดยผ่านกระบวนการคิดของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย พิจารณาร่วมกับการลงทุน รวมถึงมองผลสะท้อนด้านการตลาดด้วย ซึ่งเป็นนโยบายหลักมาโดยตลอดของ MTL ดังนั้น ทุกแบบประกันล้วนมีประเด็นมากน้อยต่างกัน ซึ่งบริษัทฯ ก็จะบริหารกรมธรรม์ในแต่ละแบบให้สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย และความพึงพอใจของผู้เอาประกัน
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงกรมธรรม์ยูนิตลิงค์ ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.64) อัตราเติบโตสูงถึง 700% อยู่อันดับ 4 ของอุตสาหกรรม นั่นหมายถึงว่าผู้เอาประกันภัยหันมาสนใจแบบประกันยูนิตลิงค์มากขึ้น นั่นเพราะเป็นแบบประกันที่ตรงกับความต้องการของเขา ดังนั้น ตัวแทนจะต้องมีความรู้ผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ นับเป็นหัวใจที่สำคัญ ซึ่ง MTL จะพยายามจัดสมดุล (Balance) ในทุกๆ เรื่องทั้งแบบประกันการลงทุน แบบประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ ฯลฯ
สำหรับผลการดำเนินงานของช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.64) อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : Car Raito) อยู่ที่ 312% มีความแข็งแกร่งอย่างมาก ผลกำไร 4,760 ล้านบาท สินทรัพย์กว่า 5.8 แสนล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.64) อัตราเบี้ยประกันรับปีแรกเติบโต 20.2%