29 กันยายน 2564 : จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 – 3 ปี 2564 เป็นต้นมา ทำให้ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์เพียงบางส่วน แต่ก็ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยถึง 20% ของจีดีพีอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวเริ่มมีความหวังกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากการที่ภาครัฐประกาศโรดแมปฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมเปิด 2 โครงการ ได้แก่ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “ทัวร์เที่ยวไทย” โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ทำการศึกษาประเมินผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทำการวิเคราะห์แนวโน้มท่องเที่ยวไทยหลังคลายล็อกดาวน์ให้คนไทยเที่ยวได้ และข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวและภาครัฐเพื่อพลิกฟื้นการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดังนี้
เหลียวหลัง... การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 20 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม 2563 – สิงหาคม 2564) ทำให้รายได้การท่องเที่ยวไทย ลดลงกว่า 3.55 ล้านล้านบาท หรือ ลดลงกว่า 79% นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่มีการแพร่ระบาด รายได้จากการท่องเที่ยวไทยรวมอยู่ที่ 2.73 ล้านล้านบาท
หลังจากนั้นเป็นต้นมาเริ่มมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น ทำให้รายได้การท่องเที่ยวไทยในปี 2563 ลดลงเหลือ 0.79 ล้านล้านบาท หรือหดตัวมากถึง 71% เมื่อเทียบกับปี 2562 และยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - สิงหาคม) รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 0.14 ล้านล้านบาท หรือหดตัวลง 92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเมื่อรวมผลกระทบนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 20 เดือน (มกราคม 2563 - สิงหาคม 2564) เทียบกับระดับรายได้ปกติปี 2562 พบว่ารายได้จากการท่องเที่ยวไทย ลดลงไปแล้วกว่า 3.55 ล้านล้านบาท หรือลดลงมากถึง 79%
โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จาก “นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” ลดลง 2.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 67% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จาก “นักท่องเที่ยวคนไทย” ลดลง 1.17 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33% จากการศึกษาผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยวไทยพบว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยจำกัดการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและแต่ละประเทศต่างก็ไม่อนุญาตให้พลเมืองของตนเองออกนอกประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง ในขณะที่นักท่องเที่ยวคนไทย แม้ลดลงไปบ้างแต่ก็ไม่ได้หายไปเลย หากไม่มีการแพร่ระบาดอย่างมากจนถึงขั้นที่ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ คนไทยก็ยังออกมาท่องเที่ยวกันอยู่
เมื่อพิจารณาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบประเมินจากโครงสร้างรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยพบว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ โรงแรมและที่พัก (ลดลง 8.8 แสนล้านบาท) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (ลดลง 7.7 แสนล้านบาท) ร้านขายของที่ระลึก (ลดลง 7.0 แสนล้านบาท) สถานบันเทิง (ลดลง 4.7 แสนล้านบาท) บริการรับส่งนักท่องเที่ยว (ลดลง 3.4 แสนล้านบาท) ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ลดลง 2.7 แสนล้านบาท) และบริการอื่น ๆ (ลดลง 1.2 แสนล้านบาท) ตามลำดับ
สำหรับจังหวัดท่องเที่ยวหลักที่ได้รับผลกระทบสูงสุด โดยรายได้ลดลงมากกว่า 80% ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี และพังงา ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงรวมกันกว่า 2.81 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 79% ของรายได้ที่หายไปทั้งหมด 3.55 ล้านล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ที่หายไปมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่มีการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มากนักพบว่ารายได้ลดลง 64% เนื่องจากในช่วงที่มีการระบาดน้อยและภาครัฐผ่อนคลายการล็อกดาวน์ลง ทำให้คนไทยสามารถเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวได้บ้าง
มองหน้า... คลายล็อกดาวน์ ตุลาคมนี้ จุดพลุุ... “ไทยเที่ยวไทย ทยอยฟื้นก่อน” คาดปี 2565 รายได้ท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 6.0 แสนล้านบาท จากการที่ภาครัฐเดินหน้าเปิดประเทศตามแผนที่วางไว้ในเดือนตุลาคม 2564 ในเบื้องต้นคือ การคลายล็อกดาวน์ให้คนไทย สามารถท่องเที่ยวได้ เพื่อมุ่งหวังว่าจะสามารถช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ พร้อมเปิด 2 โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ได้แก่ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “ทัวร์เที่ยวไทย”
ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิ์จองโรงแรมที่พักได้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 จนถึง 23 มกราคม 2565 และเริ่มเข้าพักได้วันที่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไป จนถึง 31 มกราคม 2565 สำหรับการเปิดประเทศนำร่องให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยตามรอย 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) และกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก) ที่ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564
หลังจากนี้ ภาครัฐจะทยอยเปิดจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวต่อเนื่องอีก 10 จังหวัดในเดือนพฤศจิกายน 2564 และเปิดเพิ่มอีก 20 จังหวัดในเดือนธันวาคม 2564 และในเดือนมกราคม 2565 จะเปิดเพิ่มอีก 13 จังหวัด จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยให้ดีขึ้นได้ ttb analytics ประเมินว่าการคลายล็อกดาวน์จะส่งผลทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวกลับมาได้บ้าง โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยจะเริ่มทยอยฟื้นตัวกลับมาก่อน เนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วง High Season ประกอบกับการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐจะทำให้คนไทยกลับมาท่องเที่ยวได้บ้าง
ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าการฟื้นตัวยังถูกจำกัด เนื่องจากการเปิดประเทศถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องวางแผนล่วงหน้าก่อนเข้ามาท่องเที่ยว ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาได้เร็วที่สุด คือ ต้นเดือนธันวาคม ทำให้ภาพรวมปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมเพียง 1 แสนคนเท่านั้น จากปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 6.7 ล้านคน ทำให้คาดว่าปี 2564 รายได้จากการท่องเที่ยวจากคนไทยและต่างชาติรวมกันจะอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท โดยอัตราเข้าพักโรงแรมคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8%
สำหรับแนวโน้มปี 2565 คาดว่า รายได้นักท่องเที่ยวโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนล้านบาท และอัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยอยู่ที่ 23.8% ภายใต้สมมติฐานไม่มีการล็อกดาวน์อีก แต่มีมาตรการการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) เช่น เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยๆ ฯลฯ
นักท่องเที่ยวไทยจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ทำให้อัตราการเข้าพักโรงแรมของนักท่องเที่ยวไทยในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 19.8% ดีขึ้นจากปี 2564 โดยเฉลี่ย 14.1% ทำให้คาดว่ารายจากนักท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท
นักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นกลับมา ส่วนใหญ่มาจากลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เนื่องจากประชากรมีการฉีดวัคซีนครบโดสและเริ่มเปิดประเทศทั้งขาเข้าและขาออก คาดว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยจำนวน 3 ล้านคน ทำให้อัตราการเข้าพักที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% จากปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ และคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท
พื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญที่จะฟื้นตัวก่อนจะเป็นกลุ่มที่พึ่งนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก ได้แก่ ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมปี 2565 จะทยอยกลับมาอยู่ระหว่าง 32.7 - 43.3% เทียบกับศักยภาพอัตราการเข้าพักโรงแรมที่เคยทำได้ในปี 2562 อยู่ระหว่าง 66 - 74%
พื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญที่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ได้แก่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี กระบี่ กรุงเทพฯ และสงขลา คาดว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมในปี 2565 จะค่อนข้างต่ำอยู่ระหว่าง 11.3 - 27.2% เทียบกับศักยภาพอัตราการเข้าพักโรงแรมที่เคยทำได้ในปี 2562 อยู่ระหว่าง 66 - 83% ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพราะเน้นกลุ่มต่างชาติเป็นหลัก
แนะผู้ประกอบการเน้นตลาดนักท่องเที่ยวไทย และภาครัฐทยอยผ่อนคลายนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างระมัดระวัง
ผู้ประกอบการควรหันมาดึงนักท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้นได้ในระหว่างที่รอให้มีการผ่อนปรนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา นอกจากนี้ จำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวทางการเข้าใช้บริการตามมาตรการปลอดภัย (Covid Free Setting) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด และให้เปิดกิจการได้อย่างปลอดภัย ได้แก่
1) ทำความสะอาดทันทีทั้งก่อนและหลังการให้บริการ โดยทำความสะอาดทุกพื้นที่ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง 2) นำพนักงานทั้งหมดเข้าฉีดวัคซีน และจัดหา Antigen Test Kit (ATK) เพื่อตรวจให้พนักงานทุก 7 วัน 3) จัดทำระบบการเข้ารับบริการ และจัดพื้นที่เข้าใช้บริการไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป 4) คัดกรองผู้เข้าใช้บริการโดยต้องผ่านการฉีดวัคซีนครบโดส หรือเป็นผู้ที่เคยมีประวัติการติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือนและรักษาหายแล้ว มาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยจากการติดเชื้อในสถานประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้
ภาครัฐควรสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ที่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือพยุง และหาทางออกให้ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกในการหารายได้ของผู้ประกอบการ เช่น พิจารณาผ่อนปรนให้พื้นที่ที่มีการระบาดไม่มากให้ประชาชนสามารถท่องเที่ยวได้ และการขยายพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยความระมัดระวัง
เช่นเดียวกับ กรณีโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ รวมถึงพิจารณาช่วยเหลือด้านการเงิน ได้แก่ พิจารณาการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ยังพอดำเนินกิจการได้ การพักชำระหนี้ หรือการให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เข้าร่วมโครงการพักทรัพย์พักหนี้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อรอวันที่ผู้ประกอบการกลับมาทำธุรกิจได้ดังเดิม เมื่อการแพร่ระบาดบรรเทาลง