21 กันยายน 2564 : มร. รอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิตฯ เผยว่า ธนาคาร ร่วมมือกับ กรมการพัฒนาชุมชน เดินหน้านำหลักสูตรความรู้ทางการเงิน “ตังค์โต Know-how” ถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง สู่เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ และผู้นำชุมชนต้นแบบ เพื่อขยายองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการชุมชน ชูบริหารการจัดการหนี้ และวินัยการออม เป็นเกราะการเงิน ต้านภัยโควิด-19
อีกทั้งยังเป็นการบริหารจัดการการเงินอย่างยั่งยืนในระยะยาวหลังภัยโควิด โดยมีผู้เข้าอบรมครั้งล่าสุด 275 ราย จาก 49 จังหวัด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนต้นแบบ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน (ส่วนกลาง)
“ในยุคโควิดนี้ หรือแม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน ความรู้ทางการเงินถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการหนี้ และเงินออม สำหรับใช้ยามฉุกเฉิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาหลักในหลักสูตรตังค์โต Know-how ที่ได้ถ่ายทอดสู่ผู้นำชุมชน ในรูปแบบ เทรน-เดอะ เทรนเนอร์ โมเดล เพื่อส่งต่อองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน
โดยเงินออมในสัดส่วนจำนวนเท่าต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของแต่ละสายวิชาชีพอาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความมั่นคงของแต่ละสายงาน เช่น อาชีพข้าราชการที่มีความมั่นคงในอาชีพสูง ควรมีเงินออมฉุกเฉิน 3 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่หากเป็นมนุษย์เงินเดือน มีความมั่นคงในอาชีพรองลงมา ต้องมีเงินออมฉุกเฉินถึง 6 เท่า
ในขณะที่อาชีพอิสระ อย่างพ่อค้าแม่ค้ารวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร ฟรีแลนซ์ต่างๆ ควรเตรียมไว้ถึง 12 เท่า และต้องใส่ใจในการบริหารจัดการหนี้สิน อย่างมีระบบ มีขั้นตอน ทั้งหนี้นอกระบบ และในระบบโดยพิจารณาจากวงเงินกู้ยืม ระยะเวลา ดอกเบี้ย เป็นต้น รวมถึงการสร้างอาชีพเสริมจากความสามารถพิเศษ จากงานอดิเรก เพื่อเพิ่มรายได้ ทั้งนี้เพื่อการอยู่รอดในภาวะวิกฤตต่าง ๆ และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
ด้าน นายทรงพล วิชัยขัทคะ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เผยว่า ทางกรมฯ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพศูนย์จัดการกองทุนชุมชนต้นแบบด้านการบริหารจัดการหนี้ “สำนึกดี แผนดี บริหารหนี้ได้” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน อันเป็นที่ทราบกันดี เรื่องภาวะหนี้สินครัวเรือนของพี่น้องประชาชนนั้นเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ทางกรมฯ จึงได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ
โดยได้ขอความร่วมมือจากธนาคารไทยเครดิตฯ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีองค์ความรู้ในด้านการเสริมสร้างทักษะทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้แก่คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนซึ่งเป็นผู้นำชุมชน ได้รับความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการหนี้ และการบริหารเงินทุนให้งอกเงย
จากการที่ผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนได้เข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้ หนึ่งครัวเรือนหนึ่งสัญญา กับศูนย์จัดการกองทุนชุมชน ซึ่งได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนอาชีพแก่ ผู้ที่ร่วมโครงการ โดยคาดหวังว่าการอบรมสร้างความรู้ทางการเงินจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ และเพิ่มแนวคิดในการสร้างรายได้และหาอาชีพเสริม เพื่อสร้างความมั่นคงในครัวเรือนและในชุมชน
จากการอบรมออนไลน์ที่ผ่านๆ มา ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าอบรมไปแล้วร่วม 400 ราย จาก 49 จังหวัด ต่าง พึงพอใจในหลักสูตรตังค์โต Know-how ที่มีมาตรฐานตามหลักวิชาการ เป็นหลักสูตรเข้าใจง่าย สนุกสนาน และคณะวิทยากรจากธนาคารฯ มีความเป็นมืออาชีพ ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการได้เป็นอย่างดี
ทางกรมฯ จึงวางแผนขยายการอบรมความรู้ทางการเงินสู่หน่วยงานอื่น อันได้แก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20,000 แห่งทั่วประเทศในปี 2565 โดยจะขอความร่วมมือจากทางธนาคารฯ ผู้เป็นมืออาชีพเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเงิน อันเป็นภารกิจที่ทางกรมฯ มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ให้พี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาค ได้มีองค์ความรู้ทักษะในเรื่องการบริหารจัดการหนี้ และการวางแผนทางการเงินที่ดี”
ผู้บริหารธนาคารไทยเครดิตฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงการให้ความร่วมมือในอนาคตกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยพร้อมลงพื้นที่นำความรู้ด้านการบริหารการเงินและการบริหารจัดการหนี้สิน สู่ชุมชนทั่วประเทศ ผ่านหลักสูตรตังค์โต Know-how นอกเหนือจากการเปิดอบรมแบบเฟซบุ๊กไลฟ์ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยของธนาคาร และผู้สนใจทั่วไป โดยได้ไลฟ์สดทุกวันพุธในสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน
อีกทั้ง ยังได้ตระเตรียมหลักสูตรการวางแผนการเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน จนกระทั่ง สร้างครอบครัว ถึงวัยเกษียณ โดยจะมีการอบรมผ่านไลฟ์สดทุกสิ้นเดือน ประเดิม 30 กันยายนศกนี้